RSUSSH 2020

NA20-108 การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้ง

นำเสนอโดย: หัทยา บุญญวงศ์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ไทย

Abstract

       ตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้ง เป็นตำรับยาที่อยู่ในคัมภีร์ทิพยมาลา ใช้รักษาโรคฝีรวงผึ้ง ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณตับ ยาแก้ฝีรวงผึ้งประกอบไปด้วยสมุนไพรทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ ทนดี (Baliospermum montanum (Willd.) Muell. Arg.) หนามแดง (Carissa carandas Linn.) ก้างปลาแดง (Phyllanthus reticulatus Poir.) คงคาเดือด (Arfeuillea arborescens Pierre.) คนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) เปล้าใหญ่ (Croton oblongifolius Roxb.) และย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels.) โดยงานวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้งที่สกัดด้วยน้ำและเอทานอลโดยทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ  ด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) และ 2,2’-Azino-bis (3-Ethylbenzothiazoline-6-Sulfonic Acid) (ABTS) radical scavenging activity ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดน้ำของตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS  โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 69.68±0.53 และ 12.43±0.05 µg/mL ตามลำดับ ส่วนสารสกัดเอทานอล ของตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้ง มีค่า IC50 เท่ากับ 71.07±0.30 และ 13.79±1.13 µg/mL ตามลำดับ จากผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่า สารสกัดน้ำและเอทานอลของยาแก้ฝีรวงผึ้งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้  ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้งทางการแพทย์

Keywords: ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ; สมุนไพรไทย; ยาแก้ฝีรวงผึ้ง

Citation format:

หัทยา บุญญวงศ์, จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล, และสุรศักดิ์ ลิ้มสุวรรณ. (2020). การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้ง. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

ผศ.ดร.อรจิรา อารักษ์สกุลวงศ์ (Chairperson)

เพราะเหตุใดผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ ABTS จึงให้ผลการทดลองที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน  และเราสามารถสรุปว่า "สารสกัดน้ำและเอทานอลของยาแก้ฝีรวงผึ้งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้" หรือไม่ ทั้งๆ ที่ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเป็นเช่นนั้น

 

 

หัทยา บุญญวงศ์ (Presenter)

ตอบคำถามของ  ผศ.ดร.อรจิรา อารักษ์สกุลวงศ์ (CHAIRPERSON)

วิธีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ ABTS มีกลไกในการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยการทดสอบด้วยวิธี DPPH เป็นการทดสอบความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระในการให้ไฮโดรเจนอะตอมแก่อนุมูลอิสระ ส่วนการทดสอบด้วยวิธี ABTS เป็นการทดสอบความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระในการให้อิเล็กตรอนแก่อนุมูลอิสระ ส่งผลให้ผลที่่ออกมานั้นขึ้นอยู่กับกับความสามารถของสารสกัดตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้งว่ามีความสามารถในการให้ไฮโดรเจนอะตอมหรือรับอิเล็กตรอน นอกจากนี้ ABTS มีความไวต่อปฎิกิริยามากกว่าวิธี DPPH เนื่องจากอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวของ DPPH มีวงแหวนเบนซีนและหมู่ไนโตรเจนขัดขวางอยู่ จึงทำให้สารต้านอนุมูลอิสระที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่เข้าไปทำปฏิกิริยาได้หรือทำให้เกิดปฎิกิริยาได้ช้า (โอภา วัชระคุปต์ และคณะ, 2550) และจากผลการทดลองที่ได้สรุปได้ว่าสารสกัดตำรับยาแก้ฝีรวงผึ้งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้