RSUSSH 2020
NA20-081 การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาสมุนไพรรักษาแผลเรื้อรัง
นำเสนอโดย: พันศร รัตนมา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ไทย
Abstract
ปัญหาแผลเรื้อรังที่พบในปัจจุบันเกิดจากการที่แผลอยู่ในระยะการอักเสบที่ยาวนานและไม่สามารถหายได้ตามกลไกของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอักเสบเรื้อรังที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระเพื่อสลายเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลและส่งผลให้แผลหายช้า ซึ่งหากยารักษาแผลสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ ก็จะมีผลทำให้ลดปัจจัยส่งเสริมในการทำให้เกิดแผลเรื้อรัง จากการศึกษาก่อนหน้าพบว่า ยาสมุนไพรมีคุณสมบัติดักจับอนุมูลอิสระได้ดีโดยการให้อิเล็กตรอนแก่อนุมูลอิสระเพื่อสร้างความเสถียร ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำตำรับยาสมุนไพรรักษาแผลเรื้อรังที่ใช้ในการแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ โดยประกอบไปด้วยสมุนไพร 6 ชนิด คือ ขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) ข้าวสาร (Oryza sativa L.) ไพล (Zingiber cassumunar Roxb.) เปลือกมังคุด (Garcinia mangostana L.) หมากสง (Areca catechu L.) และสีเสียดเทศ (Uncaria gambir (Hunter) Roxb.) มาศึกษาถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH scavenging assay และ ABTS scavenging assay ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดด้วยเอทานอลของตำรับยาสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50เท่ากับ15.15±0.06 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ABTS+โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.11±0.02ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงให้เห็นว่าตำรับยารักษาแผลเรื้อรังจากสมุนไพรสามารถช่วยลดอนุมูลอิสระในหลอดทดลองได้ดี จึงควรค่าแก่การนำไปศึกษาต่อในฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหายของแผล เพื่อพัฒนายาจากสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ได้แพร่หลายมากขึ้น
Citation format:
พันศร รัตนมา, จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล, และสุรศักดิ์ ลิ้มสุวรรณ. (2020). การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาสมุนไพรรักษาแผลเรื้อรัง. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
1. ผู้วิจัยได้สรุปว่าตำรับยานี้มีฤทธื์ต้านอนุลมูลอิสระได้ดีเนื่องจากมีสารประเภทฟีนอลิก ไม่ทราบว่าได้ทำการทดลองหาปริมาณฟีนอลิกทั้งหมดในสมุนไพร เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระกับปริมาณสารฟีนอลิกหรือไม่
2. เนื่องจากตำรับยานี้มีสมุนไพรหลายชนิดเหตุใดผู้วิจัยเลือกเอทานอลเป็นสารสกัด เคยใช้น้ำหรือตัวทำละลายอื่น เพื่อสกัดหรือไม่
1.การทดลองหาปริมาณฟีนอลิกทั้งหมดในตำรับยา ทางผู้วิจัยได้มีแผนงานจะทำเพิ่มเติมค่ะ เนื่องจากค่าอนุมูลอิสระที่ได้มีค่าที่ดี แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ปริมาณสารฟีนอลิกมีความสัมพันธ์กับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเมื่อมีปริมาณฟีนอกลิกมาก จะส่งผลให้มีการต้านอนุมูลอิสระที่ดีขึ้นค่ะ
2.การศึกษาครั้งนี้เลือกสกัดสารเอทานอลเพียงอย่างเดียวค่ะ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการศึกษาสารสกัด สมุนไพร 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ข้าวสาร เปลือกมังคุด และหมากสง พบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลมีค่าการยับยั้งอนุมูลอิสระดีกว่าสารสกัดด้วยน้ำ (Chusri et al., 2013)
1. อยากทราบข้อดี และข้อด้อย ของวิธื DPPH กับวิธี ABTS ในการตรวจ antioxidant activity คะ
2. ผลของตัวทำละลายที่สกัดจะมีผลต่อค่าที่ได้จากการตรวจวัดโดยวิธี DPPH กับวิธี ABTS หรือไม่
อยากทราบว่า ผู้วิจัยจะเพิ่มสมุนไพร เช่น รางจีด ฟ้าทะลายโจร เพื่อวิเคราะห์ว่าผลจะเป็นอย่างไรบ้าง หรือไม่คะ
ผู้วิจัยสกัดยาสมุนไพรในตำรับฯ ด้วยตัวทำละลายเอทานอล ไม่ทราบว่าตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ได้สกัดหรือนำยาสมุนไพรในตำรับนี้ไปใช้อย่างไร
1.ข้อแตกต่างของวิธี DPPH และ ABTS คือ ABTS จะมีความไวต่อการทำปฏิกิริยามากกว่า ซึ่งมีความเหมือนกับอนุมูลอิสระในร่างกายมากกว่าอนุมูลอิสระ DPPH และ หากใช้ตัวทำละลายสารสกัดต่างกันอาจมีผลต่างกันค่ะ แต่ในที่นี้ศึกษาเพียงผลของเอทานอล
2.ไม่มีการเพิ่มสมุนไพรรางจืด หรือฟ้าทะลายโจรค่ะ
3.ตามภูมิปัญญา ใช้การเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวค่ะ