RSUSSH 2020

NA20-103 การศึกษาผลกระทบจากการใช้น้ำในการดับเพลิงภายในอาคาร

นำเสนอโดย: จรูญ สีสายชล
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, ประเทศไทย

Abstract

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาการใช้น้ำดับเพลิงภายในอาคารที่มีผลกระทบต่อตัวนักดับเพลิงภายในห้องจำลองการเกิดเพลิงไหม้ที่อุณหภูมิ 600 °C เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของตัวแปรภายใต้การควบคุมสถานการณ์ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ระหว่างตัวแปรความร้อนที่มีผลต่อนักดับเพลิงในระหว่างการใช้น้ำในการดับเพลิงในอาคาร 4  รูปแบบ คือ (1) การฉีดฝอยน้ำขนาดใหญ่เป็นลำตรง – การปรับหัวฉีดเป็นช่วงสั้นๆ  (2) การฉีดฝอยน้ำขนาดเล็ก – การปรับหัวฉีดเป็นช่วงสั้นๆ (3) การฉีดฝอยน้ำขนาดใหญ่ หรือลำตรง – การปรับหัวฉีดเป็นช่วงยาว และ (4) การฉีดฝอยน้ำขนาดเล็ก – การปรับหัวฉีดเป็นช่วงยาว ผลการวิจัยสามารถสรุปผลการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 การศึกษาอุณหภูมิภายในห้องทดลองที่เกิดจากการใช้น้ำของนักดับเพลิงในรูปแบบต่างๆ  พบว่าการการฉีดน้ำรูปแบบที่ 4 สามารถลดอุณหภูมิภายในห้องทดลองได้มากที่สุด 11.16% และส่วนที่ 2 การศึกษาอุณหภูมิที่ส่งผลกระทบผลต่อนักดับเพลิงในขณะใช้น้ำในการดับเพลิงพบว่าการฉีดน้ำรูปแบบที่ 4 สามารถควบคุมความร้อนมากระทบที่ตัวนักนักเพลิงได้มากที่สุด โดยมีอุณหภูมิภายนอกชุดดับเพลิงสูงสุดที่อุณหภูมิ 57 °C และอุณหภูมิภายในชุดดับเพลิงเพิ่มขึ้น 0.10 °C รูปแบบการฉีดน้ำดับเพลิงทั้ง 4 รูปแบบนั้น การฉีดน้ำรูปแบบที่ 1 เป็นการดับเพลิงที่ไม่สามารถเข้าใกล้จุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ ใช้ในการดับไฟเฉพาะจุด, การฉีดน้ำรูปแบบที่ 2 เป็นการดับเพลิงในอาคารที่ต้องเข้าใกล้จุดต้นเพลิง หรือฉีดเพื่อให้ความร้อนลดลงไม่ให้ลุกลามไปพื้นที่อื่น หรือใช้ทดสอบอุณหภูมิของไฟ, การฉีดน้ำรูปแบบที่ 3 เป็นการดับเพลิงที่ไม่สามารถเข้าไปใกล้จุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ ใช้ในการสกัดกั้นไฟ ป้องกันการลุกลามของเพลิงไหม้ห้องขนาดใหญ่ และการฉีดน้ำรูปแบบที่ 4 ใช้ในการดับเพลิงที่เข้าดับเพลิงในระยะใกล้และเพลิงไหม้มีการลุกลามจำนวนมาก สามารถลดความร้อนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ทราบว่าการฉีดน้ำในตัวอาคารรูปแบบที่ 4 สามารถลดความร้อนภายในห้องลดลงได้มากที่สุดและมีผลกระทบต่อตัวนักดับเพลิงน้อยที่สุด แต่การใช้น้ำปรับหัวฉีดเป็นช่วงยาวนั้นมีการใช้ปริมาณน้ำมากกว่าการฉีดน้ำแบบการปรับหัวฉีดเป็นช่วงสั้นๆ มากถึง 50% ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เกิดเหตุและทรัพย์สินได้อย่างมากมาย อีกทั้งปริมาณของน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงนั้นเปลี่ยนสถานะเป็นไอน้ำที่มีความร้อนสูงมากกว่า 100 °C ส่งผลให้ความร้อนภายในห้องและตัวนักดับเพลิงมีความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น ในการดับเพลิงภายในอาคารรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด คือ การฉีดน้ำรูปแบบที่ 2 เมื่อพิจารณาเรื่องการใช้น้ำให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น

Keywords: การดับเพลิงในอาคาร; เทคนิคการใช้น้ำในการดับเพลิง; ความร้อนที่มีผลต่อนักดับเพลิง

Citation format:

จรูญ สีสายชล, และอํานาจ ผดุงศิลป์. (2020). การศึกษาผลกระทบจากการใช้น้ำในการดับเพลิงภายในอาคาร. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

รศ.ปัญญา มณีจักร์ (Chairperson)

ผลการทดลงชัดเจนดีมากเลยครับ แต่มีข้อสงสัยนิดหน่อยครับ

1. ทำไมจึงเลือกใช้  LPG เป็นเป็นเชื้อเพลิง ปกติไฟไหม้ ไหม้จาก ผ้า ไม้ เป็นส่วนใหญ่ หรือเปล่าครับ แล้วอุณหภูมิจะสูงเหมือนกันไหมครับ

2. ควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อเปลวไฟอะไรบ้างครับ

จรูญ สีสายชล (Presenter)

1. เมื่อวัสดุประเภท A เกิดการลุกไหม้ติดไฟ  จะเกิดการคายไอและความร้อนขึ้น และเกิดการสะสมของควันและก๊าซร้อนส่งผลให้ค่าอุณหภูมิและการแผ่รังสีของชั้นอากาศร้อนภายในห้องเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลให้พื้นผิวของวัสดุที่ติดไฟได้ (combustible material ) ภายในห้องเกิดการลุกไหม้ทั้งหมดส่งผลให้ค่าอุณหภูมิและอัตราการปลอดปล่อยความร้อน (heat release rate) จากเพลิงไหม้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า flashover  โดยปกติจุดวาบเพลิงจะเกิดขึ้นเมื่อค่าอุณหภูมิของชั้นอากาศร้อนสูงถึงประมาณ 600 องศาเซลเซียส  ดังนั้นเหตุผลที่เลือกใช้ LPG เพราะสามารถควบคุมบริมาณแก๊สและอุณหภูมิของห้องทดลองให้สอดคล้องกับเหตุเพลิงไหม้จริงของ flashover ได้

 

2. การทดลองนี้ผู้วิจัยศึกษาภายในห้องที่มีการควบคุมช่องทางเข้าของอากาศ ในส่วนของความร้อนนั้นได้ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดค่าความร้อนให้อยู่ที่ระดับ 600  องศาเซลเซียส  เมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่กำหนดจึงให้พนักงานดับเพลิงเข้าไปในจุดที่กำหนดไว้ในการทดลอง