RSUSSH 2020

NA20-080 ผลการพัฒนาทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้านการนำเสนอด้วยวาจาโดยการใช้ชุดกิจกรรมการเคลื่อนที่โพรเจกไทล์ในการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

นำเสนอโดย: มยุรี จักรสิทธิ์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ไทย

Abstract

                งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเคลื่อนที่โพรเจกไทล์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 45 คน รูปแบบการวิจัยเป็นแบบ One Group Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเคลื่อนที่โพรเจกไทล์ และ 2) แบบประเมินทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ด้านเนื้อหา ด้านสื่อแทนความ ด้านการแสดงตัวอย่าง และด้านภาษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ ผลการวิจัย พบว่า ความสามารถในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้านการนำเสนอด้วยวาจาทุกองค์ประกอบของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเคลื่อนที่โพรเจกไทล์ เฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก ข้อเสนอแนะ ควรมีการวัดประเมินผลด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะความคิดสร้างสรรค์

Keywords: ชุดกิจกรรม; ทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้านการนำเสนอด้วยวาจา; การเคลื่อนที่โพรเจกไทล์

Citation format:

มยุรี จักรสิทธิ์, เกริก ศักดิ์สุภาพ, และพงษ์แก้ว อุดมสมุทรหิรัญ. (2020). ผลการพัฒนาทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้านการนำเสนอด้วยวาจาโดยการใช้ชุดกิจกรรมการเคลื่อนที่โพรเจกไทล์ในการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

กฤษกร บุญประเสริฐ (Participant)

จากการที่ได้รับชมการนำเสนอ และอ่านบทคัดย่อ จากการอ้างอิง เห็นว่า หลังจากทำการเรียนการสอนแล้ว คะแนนทักษะสื่อสารทางวิทศาสตร์ของผู้เรียนในงานวิจัยอ้างอิง อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก แต่ในงานวิจัยนี้ คะแนนทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ของนักเรียนหลังเรียนมีคะแนนที่ค่อนข้างสูง จึงอนุญาตสอบถามไปยังผู้วิจัยว่า ทำไมการพัฒนาทักษะสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ของผู้วิจัยจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า งานวิจัยที่ผู้วิจัยอ้างอิง  

มยุรี จักรสิทธิ์ (Presenter)

เรียนคุณ กฤษกร บุญประเสิรฐ 
     
เนื่องจากการที่นักเรียนได้คะแนนของทักษะสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องมาจาก ในขณะที่นักเรียนได้รับการประเมิน นักเรียนสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เนื่องด้วยเป็ฯบรรยากาศที่คุ้นเคย ทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในการสื่อสารออกมา คะแนนที่นักเรียนได้รับ ผู้ประเมินจึงให้คะแนนที่ค่อนข้างสูง มากไปกว่านั้น การจัดการเรียนการสอนในการวิจัย ผู้วิจัยพยายามอย่างยิ่งเพื่อที่จะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรแก่ผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย และแสดงความมั่นใจได้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากหากนักเรียนมีความมั่นใจแล้ว นักเรียนจะสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด