RSUSSH 2020
NA20-094 ปัจจัยที่มีผลต่อการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะ: กรณีศึกษาสถาบันอาชีวะศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
นำเสนอโดย: ฐาปนัส เรืองรัตนพงศ์
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย
Abstract
การศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะ: กรณีศึกษาสถาบันอาชีวะศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยและสาเหตุของการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษา 2) เพื่อศึกษาหาแนวทางในการป้องกันการทะเลาะวิวาทในนักเรียนอาชีวศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักสถาบันละ 3 คน แบ่งเป็น (1) นักเรียนที่อยู่ในชั้นปีที่ 3 หรือมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน โดยคัดเลือกจากนักเรียนอาชีวะที่มีปัญหาในเรื่องของความประพฤติมากที่สุดและไม่เคยถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทำการคัดเลือกโดยอาจารย์ฝ่ายปกครอง และ (2) หัวหน้าอาจารย์ฝ่ายปกครองที่มีประสบการณ์มากกว่า 5 ปีขึ้นไป จำนวน 1 คน รวมทั้งหมดจำนวน 9 คน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยและสาเหตุของการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษาเกิดจากเกิดความคึกคะนองตามธรรมชาติและถูกยั่วยุได้ง่าย เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น (14-16 ปี) เมื่อถูกทำร้ายและกฎหมาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ จึงทำให้เกิดความต้องการเอาคืนเพื่อแก้แค้นและเป็นการรักษาศักดิ์ศรี นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเลียนแบบสื่อ และปัญหาความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง เพราะเชื่อว่าจะได้รับความสนใจ และได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน สำหรับผลการศึกษาหาแนวทางในการป้องกันการทะเลาะวิวาทในนักเรียนอาชีวศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ พบว่า กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังไม่มีความรวดเร็วและเด็ดขาดมากพอที่จะทำให้เกรงกลัวการกระทำผิด รวมถึงสื่อต่างๆ ก็ยังนำเสนอภาพความรุนแรงต่างๆ โดยไม่มีการเซ็นเซอร์และไม่มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลเสียและ การลงโทษตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มกำลังคนหรืองบประมาณเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยให้มากขึ้น และควรมีแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาพฤติกรรมรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างนักเรียน คณะครู เจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุมชน
Citation format:
ฐาปนัส เรืองรัตนพงศ์, และศศิภัทรา ศิริวาโท. (2020). ปัจจัยที่มีผลต่อการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะ: กรณีศึกษาสถาบันอาชีวะศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
รบกวนสอบถามนะคะ
1. มีข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคลของ นศ.ที่ถูกคัดเลือกมาวิจัย ด้วยมั้ยคะ เช่น ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว , สถานะของผู้ปกครอง , งานอดิเรก , มีพี่น้องหรือไม่ , กลุ่มเพื่อนสนิท ฯลฯ เพื่ออาจจะสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยร่วมของพฤติกรรมได้หรือไม่
2.อยากทราบว่า นศ.ที่คัดเลือกมานี้ ได้เสนอแนวทางที่จะลดปัญหา หรือแก้ไขปัญหานี้บ้างหรือไม่อย่างไร
(ณัฐชฎา พิมพาภรณ์ รหัสบทความ NA20-027)
ตอบคำถามนะคะ
1. ข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคลของนักเรียนที่คัดเลือกมาวิจัย มีเพียงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวค่ะ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่มีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
2. นักเรียนทั้งหมดได้เสนอแนวทางลดปัญหาไปในทางที่สอดคล้องกัน คืออยากให้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาดมากขึ้น ร่วมกับสามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังอยากให้มีการปรับปรุงการนำเสนอภาพและวิดีโอความรุนแรงผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ ค่ะ