RSUSSH 2020

NA20-070 การพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ โดยการใช้การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง การตกแบบเสรีของลูกแบดมินตันในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

นำเสนอโดย: กฤษกร บุญประเสริฐ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ไทย

Abstract

     การวิจัยครั้งนี้มีมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษาวิชาฟิสิกส์ เรื่องการตกอย่างเสรีของลูกแบดมินตัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หลักสูตรสะเต็มศึกษา จำนวน 35 คน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1. แบบประเมินทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้านความคิดสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ ประกอบด้วย คิดคล่องแคล่ว คิดยืดหยุ่น คิดริเริ่ม และคิดละเอียดลออ 2. คู่มือกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาวิชาฟิสิกส์ เรื่องการตกอย่างเสรีของลูกแบดมินตัน เพื่อเปรียบเทียบคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าสถิติ t-test Independent Sample ผลการวิจัย พบว่านักเรียนที่ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมสะเต็มศึกษาวิชาฟิสิกส์ เรื่องการตกอย่างเสรีของลูกแบดมินตัน มีคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์เฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 20.04 ในขณะที่หลังเรียนเท่ากับ 27.17 ซึ่งคะแนนหลังเรียนมากกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ข้อเสนอแนะ ควรยกระดับกิจกรรมสะเต็มศึกษา(STEM Education) เป็นกิจกรรมสะตีมศึกษา(STEAM Education) เชื่อมโยงกับเนื้อหาฟิสิกส์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในด้านต่าง ๆ

Keywords: สะเต็มศึกษา; การตกอย่างเสรี; ลูกแบดมินตัน; ความคิดสร้างสรรค์

Citation format:

กฤษกร บุญประเสริฐ, และพงษ์แก้ว อุดมสมุทรหิรัญ. (2020). การพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ โดยการใช้การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง การตกแบบเสรีของลูกแบดมินตันในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

มยุรี จักรสิทธิ์ (Participant)

ก่อนการใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษา คะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอยู่ในระดับที่ดีอยู่แล้ว ทำไมจึงยังต้องทำการศึกษา เพื่อเก็บผลกับประชากรกลุ่มนี้

กฤษกร บุญประเสริฐ (Presenter)

เรียน คุณมยุรี จักรสิทธิ์ โดยงานวิจัยได้เน้นถึงการศึกษาพัฒนาการด้านทักษะความคิดสรา้งสรรค์ของนักเรียน โดยที่ยังไม่สามารถทราบได้ว่า ก่อนเรียนนั้น นักเรียนจะมีระดับทักษะความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับใด จึงได้ทำกิจกรรมสะเต็มศึกษามาใช้กับนักเรียน เพื่อวิเคราะห์ถึงคะแนนก่อนและหลัง 
ซึ่งนักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นนักเรียนที่เน้นการเรียนเกี่ยวกับสะเต็มศึกษาอยู่แล้ว ทำให้ระดับทักษะความคิดสร้างสรรค์เฉลี่ยก่อนเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับ ดี 
 

Aphiwat Ratriphruek (Participant)

เรียน คุณกฤษกร บุญประเสริฐ

ส่วนใดในงานวิจัยที่ทำให้ผู้วิจัยเชื่อว่า นักเรียนมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์จากระดับ ดี กลายเป็น ดีมาก

ขอบคุณครับ

Nimnual Visedsun (Visitor)

สวัสดีคะ  ขอเรียนถามเครื่องมือที่ใช้ในการวัดทักษะความคิดสร้างสรรค์ แบบละเอียด  นะคะ  ไม่ทราบติดต่อผู้วิจัยได้ทางใดคะ

กฤษกร บุญประเสริฐ (Presenter)

ถึง คุณ APHIWAT RATRIPHRUEK 
     
การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ เก็บจากหลายๆส่วนเป็นการประเมินแบบ 360 องศา นักเรียนได้ประเมินตนเอง และกลุ่มของนักเรียนเอง และผู้วิจัย รวมถึงครูผู้สอนก็ได้ประเมินด้วย ทำให้คะแนนที่นักเรียนได้มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ เครื่องมือที่ใช้ ยังผ่านการประเมิน และแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนนำไปใช้เก็บข้อมูลจริง เพื่อลดข้อบกพร่องหรือความคลุมเคลือ 

ถึง คุณ NIMNUAL VISEDSUN
     
เครื่องมือที่ใช้ในการวัดทักษะความคิดสร้างสรรค์ดัดแปลงมาจาก นิยามความคิดสร้างสรรค์ของ กิลด์ฟอร์ด ประกอบไปด้วย 4 ด้าน 1.คิดคล่องแคล่ว 2.คิดริเริ่ม 3.คิดยืดหยุ่น 4.คิดละเอียดลออ ด้านละ 2 ช้อ ดังนั้นจะมีข้อคำถามในการประเมินทั้งสิ้น 8 ข้อ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ email : kritsakorn.boonpraserd@g.swu.ac.th ครับ