RSUSSH 2020

NA20-053 แนวคิดในนวนิยายสำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลแว่นแก้ว รางวัลชนะเลิศ พ.ศ.2551 – พ.ศ.2560

นำเสนอโดย: นางสาวทิพวรรณ์ แสงกอง
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ไทย

Abstract

      บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์แนวคิดในนวนิยายสำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลแว่นแก้ว รางวัลชนะเลิศ พ.ศ.2551 – พ.ศ.2560 จำนวนทั้งสิ้น 9 เรื่อง ผลการศึกษาพบว่า นวนิยายทุกเรื่องมีการนำเสนอแนวคิดหลักร่วมกัน 2 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดเรื่องความขาด และแนวคิดเรื่องความเมตตากรุณา ส่วนแนวคิดย่อยที่พบร่วมกันในนวนิยายบางเรื่อง มี 2 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดเรื่องครอบครัว และแนวคิดเรื่องธรรมชาติ  จากผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้นวนิยายทั้ง 9 เรื่อง จะเขียนโดยผู้เขียนคนละคน แต่ทุกเรื่องได้นำเสนอภาพปัญหาความขาดในเด็กและเยาวชนอยู่ เช่น ขาดบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว ขาดสุขภาพกายที่สมบูรณ์ และขาดการยอมรับผ่านเรื่องราวของตัวละครเอกอย่างสอดคล้องตรงกัน รวมทั้งผู้เขียนได้นำประเด็นความขาดมาสร้างเป็นปมปัญหาหลักในโครงเรื่องเพื่อเน้นย้ำแนวคิดหลักด้วย ลักษณะดังกล่าวจึงอาจอนุมานได้ว่าสังคมไทยยังคงมีปัญหานี้อยู่  ส่วนการนำเสนอแนวคิดหลักเรื่องความเมตตากรุณาคู่ขนานกันไปกับแนวคิดเรื่องความขาดในนวนิยายทุกเรื่อง เป็นไปได้ว่าผู้เขียนเห็นว่าความเมตตากรุณา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในครอบครัว โรงเรียน หรือแม้แต่จากบุคคลอื่นในสังคม ล้วนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนที่กำลังเผชิญกับภาวะความขาด มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง กล้าสู้กับอุปสรรค รวมถึงพร้อมจะเติบโตเป็นคนดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  ส่วนแนวคิดย่อยทั้ง 2 แนวคิดนั้น  แนวคิดเรื่องครอบครัวสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกำหนดความคิด และพฤติกรรมของลูกหลาน  ซึ่งถ้าหากพวกเขาได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจากครอบครัว มีพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี ก็จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมได้  ส่วนแนวคิดเรื่องธรรมชาติ ผู้เขียนอาจเห็นว่ามนุษย์กำลังขาดจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติและโลกใบนี้  ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดเรื่องธรรมชาติไว้ในวรรณกรรมเยาวชน จึงช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้อ่านที่เป็นเด็กและเยาวชนรู้สึกรัก หวงแหน และไม่เบียดเบียนธรรมชาติ รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้

Keywords: วรรณกรรมเยาวชนแว่นแก้ว; แนวคิด; แนวคิดหลัก; แนวคิดย่อย

Citation format:

ทิพวรรณ์ แสงกอง, และสารภี ขาวดี. (2020). แนวคิดในนวนิยายสำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลแว่นแก้ว รางวัลชนะเลิศ พ.ศ.2551 – พ.ศ.2560. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

rapeephan petchanankul (Visitor)

เกณฑ์การตัดสิน มีผลต่อประเภทแนวคิดที่พบหรือไม่

นางสาวทิพวรรณ์ แสงกอง (Presenter)

จากคำถามของท่าน RAPEEPHAN PETCHANANKUL

หลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสินผลงานประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน

1. ลักษณะงานเขียนเป็นนวนิยายสำหรับเยาวชน โดยต้องมีองค์ประกอบของนวนิยาย คือ

          1.1 โครงเรื่อง

          1.2 แก่นเรื่อง (แนวคิดหลัก, แนวคิดย่อย)

          1.3 การสร้างตัวละคร

          1.4 การดำเนินเรื่อง

2. เนื้อหาสาระเหมาะสมแก่เยาวชน ส่งเสริมจินตนาการ หรือสะท้อนภาพชีวิตสังคมไทย

3. เนื้อเรื่องมีอรรถรสชวนอ่านและมีคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์ จริยธรรม

4. สำนวนภาษาสละสลวย กระจ่างชัด และมีความเหมาะสม

5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และช่วยพัฒนาเยาวชนในด้านต่าง ๆ

          ในทัศนะของผู้วิจัยเชื่อว่ามีผล อย่างน้อยในส่วนเกณฑ์ข้อสองที่ว่า เนื้อหาสาระเหมาะสมแก่เยาวชน ส่งเสริมจินตนาการ หรือสะท้อนภาพชีวิตสังคมไทย แต่ทั้งนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้เขียนที่คิดว่าจะดึงปัญหาส่วนใดที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้คน(เยาวชน)ในสังคมไทยมานำเสนอ และจากผลการวิจัยก็พบว่า มีประเด็นความขาดที่สอดคล้องกันทุกเรื่อง (ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่จงใจของผู้เขียนก็ตาม)ค่ะ

rapeephan petchanankul (Visitor)

ขอบคุณมากค่ะ

ชัดเจน ดีงาม