RSUSSH 2020
NA20-063 แนวทางการออกแบบนาวาสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญ
นำเสนอโดย: ศตณ ประดิษฐ์กุล
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย
Abstract
ด้วยเรือสำราญในปัจจุบันยังไม่รองรับนักท่องเที่ยวคนเดียว การวิจัยนี้จึงเสนอแนะแนวทางการออกแบบนาวาสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญ โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาองค์ประกอบในการจัดการพื้นที่ภายในเรือสำราญ 2) ศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญ 3)เพื่อเสนอแนะแนวทางการออกแบบนาวาสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญ ดำเนินการวิจัยโดยรวบรวมข้อมูลจากกรณีศึกษา ทฤษฎี และศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญผ่านการสัมภาษณ์ การสังเกต และสื่อออนไลน์ที่มีผู้ทบทวนไว้ วารสารและข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อสรุปผล โดยผลจากการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญพบว่ามี 3 ประเภทคือ นักเสี่ยงโชค นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อน และนักท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ โดยนักท่องเที่ยวแต่ละรูปแบบจะมีพฤติกรรมและการใช้งานพื้นที่ที่แตกต่างกัน แต่มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเหมือนกัน จึงได้เสนอแนะแนวทางการออกแบบนาวาสถาปัตยกรรม โดยการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการใช้งานพื้นที่บางส่วนของเรือสำราญ ให้เหมาะสมต่อการใช้งานสำหรับนักท่องเที่ยวคนเดียว โดยมีแนวทางดังนี้ 1.การปรับเปลี่ยนส่วนของห้องพักบางส่วนให้มีขนาดเล็กลง และเพิ่มห้องพักในรูปแบบของโฮสเทล เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการคนเดียวบนเรือสำราญลง 2.การปรับเปลี่ยนการใช้งานพื้นที่ในส่วนของบาร์และห้องอาหารบนเรือสำราญให้มีรูปแบบเปิดโล่งมากขึ้น และการจัดวางเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ 3.ปรับเปลี่ยนและเพิ่มส่วนของพื้นที่จัดกิจกรรมหรืออำนวยความสะดวกต่างๆให้สามารถใช้งานเป็นกลุ่มหรือคนเดียวได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้บริการคนเดียวสำราญให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อการใช้งานและรูปแบบภายในเรือสำราญที่ถูกปรับเปลี่ยนทำให้เกิดกระบวนการทางสถาปัตยกรรม ที่เรียกว่า รูปทรงตามรูปแบบการใช้สอย ทำให้เกิดรูปลักษณ์ของเรือสำราญที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวคนเดียว โดยคาดว่าผลจากการวิจัยแนวทางการออกแบบนาวาสถาปัตยกรรมนี่จะส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญได้ และสามารถสร้างนวัตกรรมทางนาวาสถาปัตยกรรมบนเรือสำราญที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
Citation format:
ศตณ ประดิษฐ์กุล, และสมสฤทธิ์ ตาณพันธุ์. (2020). แนวทางการออกแบบนาวาสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือสำราญ. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
รูปทรงของเรือสำราญสำหรับการท่องเที่ยวแบบคนเดียวนั้น จะสร้างความแตกต่าง และดึงดูดให้เกิดความเร้าใจต่อการท่องเที่ยวได้มัย?
สวัสดีครับ ขอถามเพิ่มเติมในส่วนของสถารการณ์ปัจจุบันที่เรือสำราญกลายเป็นสถานที่เสี่ยงต่อโรคระบาด อยากถามว่าในอนาคตพื้นที่ภายในจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมใดบ้าง ขอบคุณครับ
- เชื้อชาติ และวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวที่ต่างกัน จะมีผลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือหรือไม่
- อยากให้อธิบายเพิ่มเติมถึงทฤษฎีการสร้างปฏิสัมพันธ์ของมนุษยืให้มากขึ้น
ว่ามีหลักการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการออกแบบอาคารประเภทอื่นได้
@EKA CHAROENSIL
ขอขอบคุณสำหรับคำถามนะครับ
ขอตอบคำถามเรื่องรูปทรงของเรือสำราญสำหรับการท่องเที่ยวแบบคนเดียวนั้น จะสร้างความแตกต่าง และดึงดูดให้เกิดความเร้าใจต่อการท่องเที่ยวได้มัย?
ตอบ: เรื่อสำราญในบทวิจัยนั้นนอกจากจะมีความแตกต่างจากเรือสำราญทั่วไปที่มีอยู่แล้วในด้านรูปทรงและรูปแบบการใช้งานต่างๆแล้ว ยังสามารถดึงดูดให้เกิดความเร้าใจต่อการท่องเที่ยวคนเดียวได้ เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียว โดยกล่าวจากในบทวิจัยที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมที่แตกต่างของนักท่องเที่ยวคนเดียว และทฤษฎีที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ให้มากขึ้นทำให้พื้นที่ภายในมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้นโดยเมื่อการเชื่อมต่อของพื้นที่มากขึ้นทำให้การใช้งานพื้นที่ในบางส่วนเหมือนใช้งานร่วมกันจึงทำให้มีความน่าสนใจและใช้งานได้ดีขึ้น
@SIRADOL CHAMNANKADI
ขอขอบคุณสำหรับคำถามนะครับ
ขอตอบคำถามเรื่อง สถารการณ์ปัจจุบันที่เรือสำราญกลายเป็นสถานที่เสี่ยงต่อโรคระบาด อยากถามว่าในอนาคตพื้นที่ภายในจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมใดบ้าง
ตอบ: เรื่องพื้นที่ภายในที่จะถูกเปลี่ยนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตจะต้องมาวิเคราะห์ ว่าโรคระบาดที่จะเกิดอีกในอนาคตนั้นสามารถติดต่อได้อย่างไร หากเป็นสถานการณ์ในปัจจุบันหรือที่เรารู้จักกันในชื่อไวรัสโควิด19นั้น สิ่งที่สามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยสถาปัตยกรรมคือการสร้างsocial distanceด้วยสถาปัตยกรรม เป็นไปได้ว่าการใช้งานพื้นที่ภายในจะไม่เน้นการใช้พื้นที่ส่วนรวมเป็นหลักเหมือนเดิม แต่ให้ความสนใจกับพื้นที่ภายในห้องพักให้มากขึั้น อาจลดพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ส่วนห้องอาหารไปเพิ่มพื้นที่ห้องพักให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ราคาเท่าเดิม แต่หากไวรัสหรือโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้มีการแพร่เชื้อหรือระบาดแบบเดียวกับโควิด19 อาจต้องมาวิเคราะห์และปรับแปลงพื้นที่ภายในอีกทีครับ
@SASATHORN BORISUTNARUDOM
ขอขอบคุณสำหรับคำถามนะครับ
ขอตอบคำถามเรื่อง
- เชื้อชาติ และวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวที่ต่างกัน จะมีผลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียวบนเรือหรือไม่
- อยากให้อธิบายเพิ่มเติมถึงทฤษฎีการสร้างปฏิสัมพันธ์ของมนุษยืให้มากขึ้น
ว่ามีหลักการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการออกแบบอาคารประเภทอื่นได้
ตอบ:
-ขอตอบเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรมก่อนนะครับ โดยหลักๆพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียวนั้นจากการสำรวจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนเดียวที่กล่าวในบทวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวคนเดียวในทุกประเภท มีพฤติกรรม และความต้องการในการใช้พื้นที่หลักๆเหมือนกัน แต่ว่าการใช้งานพื้นที่ในด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมนั้นเป็นพื้นที่เสริมที่คอย support อาทิเช่น ห้องละหมาดของศาสนาอิสลามที่ต้องมี เป็นต้น โดยพื้นที่เหล่านี้จะต้องมีเสริมในพื้นที่ภายในแน่นอนครับ
-ในเรื่องที่สอง สรุปโดยรวมใจความหลักของทฤษฎีเรื่องการสร้างปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น ดังนี้ กิจกรรมจะทำให้มนุษย์คิดไปในทางเดียวกัน กิจกรรมถูกสร้างขึ้นได้จากสถาปัตยกรรม ซึ่งพอมนุษย์คิดไปในทางเดียวกันก็จะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์มากขึ้น อาทิเช่น หากเรามีความสนใจในอะไรบ้างอย่าง หากมีคนสนใจในอะไรบ้างอย่างนั้นเหมือนกันก็จะมีโอกาส สร้างการสนทนาที่ดี ได้มากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นนอกจากเรือสำราญแล้วก็สามารถนำหลักการนี้ออกแบบสถาปัตยกรรมได้ทุกรูปแบบ