RSUSSH 2020

NA20-061 แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าชายเลน

นำเสนอโดย: โชติกา ประยุทธเต
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

     บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลทางกายภาพและลักษณะเฉพาะของพื้นที่ป่าชายเลน 2) เพื่อเสนอแนวทางในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าชายเลน ด้วยปัญหาป่าชายเลนที่ลดลงในปัจจุบันสาเหตุอันเกิดจากการเกิดกิจกรรมที่รุกล้ำพื้นที่ป่าและขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน ดำเนินการวิจัยโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลแนวคิดทฤษฎีการออกแบบและกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกับโครงการ รวมถึงทฤษฎีที่เกี่ยวกับการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืนในพื้นที่ริมน้ำป่าชายเลน นำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางและเกณฑ์การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าชายเลน

   ผลจากการศึกษาข้อมูลมีหลายปัจจัยที่ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนลดลง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการควบคุมด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับพื้นที่ป่าชายเลน ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและเศรษฐกิจภายในชุมชน จึงได้เสนอแนะให้มีการควบคุมการออกแบบโดยการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 4 ส่วน ได้แก่ เขตอนุรักษ์ เขตพื้นที่พัฒนาเชิงอนุรักษ์ เขตแนวกันชน และเขตการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่พัฒนาเชิงอนุรักษ์จนไปถึงเขตการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ โดยแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมจะมีการจัดวางผังอาคารเป็นกลุ่มอาคารขนาดเล็กแทรกอยู่ตามธรรมชาติเพื่อไม่ให้ทำลายต้นไม้เดิม และเสนอแนะลักษณะของโครงสร้างแบบลอยตัวโดยพื้นอาคารยกใต้ถุนสูงจากพื้นดินและพื้นน้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพืชพรรณและสัตว์น้ำ นำรูปทรงหลังคาที่มีลักษณะคล้ายธรรมชาติและถ่ายเทอากาศได้ดีมาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้เกิดสภาวะอยู่สบาย โดยคำนึงถึงพื้นที่ภายนอกอาคารให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเน้นให้คนได้ปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในพื้นที่เปิดโล่ง เลือกใช้วัสดุและโทนสีจากธรรมชาติในงานสถาปัตยกรรมเพื่อให้กลมกลืนและสอดคล้องกับธรรมชาติของป่าชายเลน เสนอแนะการประหยัดพลังงานเพื่อลดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมโดยการนำพลังงานบริสุทธิ์จากธรรมชาติมาหมุนเวียนใช้อย่างคุ้มค่า พร้อมฟื้นฟูพื้นที่รกร้าง พื้นที่เสื่อมโทรม และพื้นที่
สูญเปล่า ให้กลับมามีคุณค่าด้วยการปลูกป่าทดแทน โดยแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใต้แนวคิดการพัฒนาเชิงอนุรักษ์นี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและเกิดจิตสำนึกให้มีการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยตระหนักว่าสถาปัตยกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งและส่วนย่อยของธรรมชาติที่จะสร้างความสัมพันธ์ การพึ่งพาและการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร อันจะเป็นประโยชน์แก่การเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างสมดุลอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป

Keywords: สถาปัตยกรรม; การพัฒนาเชิงอนุรักษ์; ป่าชายเลน

Citation format:

โชติกา ประยุทธเต, และสมสฤทธิ์ ตาณพันธุ์. (2020). แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าชายเลน. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

eka charoensilpa (Visitor)

ท่านคิดว่าแนวทางการออกแบบเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนนี้ จะช่วยรักษาพื้นที่ป่า และข่วยสร้างจิตสำนึกของชุมชนให้รักษ์ และห่วงแหนป่าชายเลนนี้ได้มัย ได้อย่างไร?

Sasathorn Borisutnarudom (Visitor)

มีหลักการในการเลือกใช้ประเภทหรือชนิดของระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างไร
เช่น ชนิดกังหันลมที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เหมาะสมกับปริมาณลมในพื้นที่
หรือประเภทของกังหันลม ที่โครงสร้างและระบบส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนน้อยที่สุด 
เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่อาจมีข้อจำกัดที่ต่างกัน
 

Thanunchai Limpakom (Visitor)

ทำไมถึงคิดว่าสถาปัตยกรรมจะแก้ปัญหาที่เกิดจากขาดจิตสำนึกของคนเราได้

Thanunchai Limpakom (Visitor)

ทำไมถึงคิดว่าสถาปัตยกรรมจะแก้ปัญหาที่เกิดจากขาดจิตสำนึกของคนเราได้

โชติกา ประยุทธเต (Presenter)

@EKA CHAROENSILPA

หากแนวทางการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนนั้นสามารถส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาด้านเศรษฐกิจไปด้วยก็จะสามารถสร้างจิตสำนึกของชุมชนให้เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัดค่ะ เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนไปด้วยจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับสถาปัตยกรรมและชุมชนค่ะ ทั้งนี้การประกอบกิจการโดยรอบของพื้นที่ป่าชายเลนจะต้องเป็นไปในแนวทางการอนุรักษ์ด้วยเพื่อเป็นการช่วยกันรักษาพื้นที่ป่าชายเลนเอาไว้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

โชติกา ประยุทธเต (Presenter)

@SASATHORN BORISUTNARUDOM

ก่อนการนำระบบพลังงานหมุนเวียนมาใช้คงต้องเริ่มจากแนวทางการออกแบบที่ใช้ระบบพึ่งพาธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และเสริมด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานบริสุทธิ์ค่ะ สำหรับในส่วนรายละเอียดของกังหันลมที่เหมาะสมกับปริมาณลมในพื้นที่นั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดส่วนลึกของงานวิจัยขั้นต่อยอดต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

โชติกา ประยุทธเต (Presenter)

@THANUNCHAI LIMPAKOM

ก่อนอื่นสถาปัตยกรรมอาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดจิตสำนึกของคนเราได้ทั้งหมด แต่สถาปัตยกรรมที่มีแนวทางการออกแบบด้านการอนุรักษ์นั้นจะช่วยรองรับคนที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติได้มีโอกาสเข้ามาศึกษา โดยจะได้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อชุมชนจนเกิดการสร้างจิตสำนึกให้อนุรักษ์ธรรมชาติกลับไปได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ