RSUSSH 2020

NA20-101 การนำเสนอความเป็นไทยในรายการ The Mask Line Thai

นำเสนอโดย: หทัยชนก ศรีสุธรรม
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ประเทศไทย

Abstract

                บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาการนำเสนอความเป็นไทยในรายการ The Mask Line Thai โดยผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่ารายการ The Mask Line Thai มีการนำเสนอความเป็นไทยผ่านหน้ากากนักร้อง พิธีกร คณะกรรมการ และการแสดงต่าง ๆ ในรายการ โดยความเป็นไทยดังกล่าว คือความเป็นไทยที่ผ่านการผสมผสานความเป็นไทยกับความเป็นไทยจากวัฒนธรรมหลากหลายแขนง และความเป็นไทยกับความเป็นต่างประเทศ ทำให้รายการมีความน่าสนใจและสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทผู้ผลิตได้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูล 3 แหล่ง คือ เอกสาร วีดีโอรายการ The Mask Line Thai ตอนที่ 1-20 และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ผลการศึกษาพบว่า รายการ The Mask Line Thai มีการนำเสนอความเป็นไทยของรายการ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก การนำเสนอความเป็นไทยแบบไม่ผสมผสาน โดยนำเสนอผ่าน 3 องค์ประกอบของรายการ ได้แก่ 1) หน้ากากนักร้อง  2) การแสดงเปิดรายการ  และ 3) เครื่องแต่งกายของคณะผู้ดำเนินรายการ ส่วนรูปแบบที่สอง การนำเสนอความเป็นไทยแบบผสมผสาน พบว่ามีการผสมผสาน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การผสมผสานความเป็นไทยกับความเป็นไทย โดยนำเสนอผ่านเครื่องแต่งกายของหน้ากากนักร้อง ที่มีการสร้างสรรค์ด้วยการนำวัสดุที่สื่อถึงความเป็นไทย 2 สิ่งขึ้นไปมาผสมผสานกัน และ 2) การผสมผสานความเป็นไทยกับความเป็นต่างประเทศ โดยนำเสนอผ่าน 3 องค์ประกอบของรายการ ได้แก่ 1) การตั้งชื่อรายการ  2) การแสดงในรายการ  และ 3) เครื่องแต่งกายในรายการ ความเป็นไทยที่ทางรายการนำมาใช้และสร้างสรรค์ ในรายการทำให้รายการนี้น่าสนใจและโดดเด่น จนทำให้มีสถิติค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้รับชมรายการอยู่ที่ 2.91 ซึ่งสูงกว่ารายการ The Mask Project A หรือ รายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้องฤดูกาลก่อน ที่มีสถิติค่าเฉลี่ยของจำนวน ผู้รับชมรายการอยู่ที่ 2.32 อีกทั้งความเป็นไทยดังกล่าวยังทำให้รายการยังคงดำรงอยู่ และพัฒนาเป็นรายการฤดูกาลต่อมาที่ยังคงเกี่ยวกับความเป็นไทย

Keywords: รายการ The Mask Line Thai; ความเป็นไทย; การผสมผสาน; รายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง

Citation format:

หทัยชนก ศรีสุธรรม, และสารภี ขาวดี. (2020). การนำเสนอความเป็นไทยในรายการ The Mask Line Thai. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

rapeephan petchanankul (Visitor)

อยากทราบนิยามของคำว่า "ความเป็นไทย" ค่ะ 

เพราะตัวอย่างยังไม่ชัดเจน 

หทัยชนก ศรีสุธรรม (Presenter)

เรียน คุณ RAPEEPHAN PETCHANANKUL

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นิยามความเป็นไทยว่า ความเป็นไทยคือ สิ่งที่สามารถพบเห็นได้ในสังคมไทย ในวิถีชีวิตของคนไทยทุกภาค โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีรากเหง้ามาแต่โบราณกาล แต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย เช่น รถตุ๊กตุ๊ก ขนมฝอยทอง กระด้ง กระติบข้าว ควาย หนังตะลุง และมโนราห์ เป็นต้น

ในรายการ The Mask Line Thai มีการนำเสนอความเป็นไทยโดยการนำสิ่งที่สื่อถึงความเป็นไทยมาใช้สร้างสรรค์รายการเช่น ทางรายการได้นำการแสดงหนังตะลุงมาใช้เป็นการแสดงเปิดรายการ ทางรายการได้ใช้ชุดไทย เช่น ชุดไทยศิวาลัย ชุดราชปะแตนมาเป็นเครื่องแต่งกายของคณะผู้ดำเนินรายการ(ซึ่งประกอบด้วย พิธีกร คณะกรรมการ และนักดนตรี) และการใช้เครื่องดนตรีไทย เช่น ขิม ระนาด ขลุ่ย ฉิ่ง กับเครื่องดนตรีสากล เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด เปียโน กลองชุด มาบรรเลงผสมผสานกันเพื่อบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงในรายการ ค่ะ 

ขอบคุณค่ะ

หทัยชนก ศรีสุธรรม

rapeephan petchanankul (Visitor)

ขอบคุณค่ะ

Peeraya Mahakittikun (Visitor)

ขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะว่า นอกจากความเป็นไทยที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว   รายการยังมีการแสดงออกถึงความเป็นไทยในแง่นามธรรมอะไรอีกบ้าง  ทั้งที่ตั้งใจสื่อสารผ่านคำพูดและท่าทาง และที่เป็นการแสดงออกตามธรรมชาติ  

 

Nimnual Visedsun (Visitor)

ถ้าเราวัดความสำเร็จของการใช้ความเป็นไทยในการนำเสนอรายการ ด้วยเรตติ้งของรายการ  อาจเป็นไปได้แต่พิสูจน์ไม่ได้  เพราะการปรับปรุงรายการโดยเฉพาะเนื้อหารายการ  พิธีกร   การให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในการโหวต  รวมทั้งการปรับผังรายการ   ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อเรตติ้งทั้งนั้นจากงานวิจัยในอดีต  การสรุปว่าการนำเสนอความเป็นไทยทั้งแบบตรงและแบบผสมผสาน เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เรตติ้ง  ดังนั้นอาจจะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพรายการมีเฉพาะเรื่องความเป็นไทยเท่านั้น   โดยปัจจัยต่าง  ที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ไม่ทราบว่าผุ้วิจัยมีความเห็นอย่างไรต่อข้อคิดเห็นนี้

หทัยชนก ศรีสุธรรม (Presenter)

เรียน คุณ PEERAYA MAHAKITTIKUN

นอกจากความเป็นไทยที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รายการยังมีการแสดงออกถึงความเป็นไทยในแง่นามธรรมผ่านการพูดคุยกันของพิธีกร หน้ากากนักร้อง และคณะกรรมการ ในช่วงการสัมภาษณ์หน้ากากนักร้อง และช่วงถอดหน้ากากของหน้ากากนักร้อง โดยในรายการทั้งสองช่วงมีการใช้มุกตลกที่เป็นการเล่นคำหรือเสียงในภาษาไทยมาสร้างความบันเทิงในรายการ เช่น มุกคำพ้องเสียง มุกคำพ้องความหมาย และการใช้ภาษาถิ่น อีกทั้งยังเห็นได้จากการแสดงเปิดรายการด้วยความบันเทิงแบบไทย เช่น เพลงอีแซว เพลงฉ่อย หนังตะลุง ก็มีการแต่งเนื้อร้องใหม่ให้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรายการ The Mask Line Thai ด้วยค่ะ 

ดังนั้นผู้วิจัยจึงมองว่าการใช้มุกตลกและการสร้างสรรค์เนื้อร้องของการแสดงพื้นบ้านใหม่นี้เป็นการสร้างความบันเทิงที่แฝงไปด้วยการนำเสนอความเป็นไทยของรายการ และเป็นสิ่งที่ทางรายการตั้งใจนำเสนอให้แก่ผู้ชม โดยผู้วิจัยได้เขียนไว้ในส่วนอภิปรายผลการวิจัยของวิทยานิพนธ์แล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

หทัยชนก ศรีสุธรรม

หทัยชนก ศรีสุธรรม (Presenter)

เรียน คุณ NIMNUAL VISEDSUN

ผู้วิจัยเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นดังกล่าวค่ะ เพราะจากการศึกษาพบว่า รายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้องซีซั่นที่1 จนถึงรายการ The Mask Line Thai (ซีซั่นที่6) มีรูปแบบรายการที่เหมือนกัน คือ เป็นรายการแข่งขันร้องเพลงที่มีจุดขายอยู่ที่ความลับของบุคคลภายใต้หน้ากากนักร้อง อีกทั้งพิธีกรและคณะกรรมการหลักของรายการก็ยังคงเป็นบุคคลกลุ่มเดิม แต่รายการ The Mask Line Thai มีความแตกต่างจากซีซั่นที่ 1-5 ที่ผ่านมา คือ ในซีซั่นนี้มีการใช้ความไทยมาเป็นธีมหลักของรายการ ซึ่งสามารถเห็นได้จากองค์ประกอบของรายการ เช่น การบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงของหน้ากากนัก-ร้องในรายการซีซั่นนี้ที่มีการใช้ดนตรีไทยบรรเลงผสมผสานกับดนตรีสากลแม้เพลงนั้น ๆ จะเป็นเพลงไทยสากลหรือเพลงสากลก็ตาม การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายของหน้ากากนักร้องที่สามารถสื่อถึงความเป็นไทยได้ทุกชุด การตั้งชื่อหน้ากากนักร้องทุกคนให้มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นไทย และการใช้ความบันเทิงและกีฬาไทยมาเป็นการแสดงเปิดก่อนเริ่มรายการ เป็นต้น จึงอนุมานได้ว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการนำความเป็นไทยมาสร้างสรรค์รายการ The Mask Line Thai (ซีซั่นที่ 6) ทำให้ผู้ชมชื่นชอบรายการ เพราะเรตติ้งของรายการซีซั่นที่ 3-5 เดิมมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อออกอากาศรายการ The Mask Line Thai (ซีซั่นที่ 6) เรตติ้งกลับสูงขึ้น โดยรายการ The Mask Line Thai (ซีซั่นที่ 6) มีเรตติ้งสูงกว่ารายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ซีซั่นที่ 4 และ 5 ค่ะ ทั้งนี้ผู้วิจัยได้เขียนไว้ในส่วนอภิปรายผลการวิจัยของวิทยานิพนธ์แล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

หทัยชนก ศรีสุธรรม