RSUSSH 2020

NA20-028 การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์สื่อ Facebook Fanpage ของบริษัท เพกาซัส ออโต้เฮ้าส์ จำกัด

นำเสนอโดย: นาย เก่งกาจ จตุพรกาญจนา
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

                การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการสร้างสรรค์เฟซบุ๊กแฟนเพจของบริษัท เพกาซัส ออโต้เฮ้าส์ จำกัด โดยวิเคราะห์จากข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ประกอบการบริษัท เพกาซัส ออโต้เฮ้าส์ จำกัด ผู้ที่มีบทบาทในด้านงานสร้างสรรค์สื่อออนไลน์บริษัท เพกาซัส ออโต้เฮ้าส์ จำกัด และผู้ที่มีบทบาทในการใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจของบริษัท เพกาซัส ออโต้เฮ้าส์ จำกัด จำนวนทั้งหมด 12 คน โดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ แนวคิดเกี่ยวกับสื่อใหม่ และแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ผลการวิจัยพบว่า 1) ข้อมูลเพื่อจัดทำเนื้อหาด้านการให้ความรู้แก่ผู้รับสาร ควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์โดยมีสาระสำคัญที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื้อหาทั้งหมดควรนำเสนอในรูปแบบของรูปภาพและวิดีโอที่ชัดเจน 2) ข้อมูลเพื่อจัดทำเนื้อหาด้านการส่งเสริมการตลาด ควรนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย เช่น การลดราคา และแจกของแถมซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจที่สุด 3) ข้อมูลเพื่อจัดทำเนื้อหาด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ควรนำเสนอคือข้อมูลเกี่ยวกับการนำรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไปสนับสนุนการทำนุบำรุงศาสนา

Keywords: เฟซบุ๊ก; การสื่อสารการตลาดบูรณาการ; ออนไลน์

Citation format:

เก่งกาจ จตุพรกาญจนา, และฐิติ วิทยสรณะ. (2020). การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์สื่อ Facebook Fanpage ของบริษัท เพกาซัส ออโต้เฮ้าส์ จำกัด. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

rapeephan petchanankul (Visitor)

น่าสนใจมากค่ะ อยากทราบว่ามีการจัดลำดับหรือไม่ว่าปัจจัยใดสำคัญที่สุด และปัจจัยใดสำคัญเป็นลำดับรองลงมา จนถึงสุดท้าย

เป็นไปได้ไหมว่า ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การเรียงลำดับความสำคัญเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงด้วย

(รพีพรรณ)

PAKARAT JUMPANOI (Visitor)

มีคำถามคล้ายๆกับคุณรพีพรรณค่ะ คือมีความอยากรู้ว่ามีข้อสรุปจากการวิจัยหรือไม่ว่าผู้บริโภคให้ความสนใจติดตามเฟชบุ๊กแฟนเพจของบริษัทมากที่สุดในข้อมูลด้านใดค่ะ

นาย เก่งกาจ จตุพรกาญจนา (Presenter)

สวัสดีครับขอบพระคุณที่ให้ความสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้ครับ จากคำถามที่สอบถามเข้ามาขออธิบายดังนี้ครับ

1. จากการที่ได้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ต่อไปจนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ทราบผลว่า ผู้บริโภคสนใจข้อมูลประเภทการส่งเสริมการตลาดมากที่สุดครับ รองลงมาคือข้อมูลประเภทให้ความรู้กับผู้บริโภค และข้อมูลประเภทช่วยเหลือสังคม ตามลำดับ สามารถเห็นได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างที่อธิบายไปข้างต้นครับ

2. เกี่ยวกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อาจมีแนวโน้มที่สามารถเปลี่ยนแปลงความน่าสนใจของข้อมูลได้ตลอดเวลาครับ เนื่องจากสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่เคลื่อนที่ตลอดเวลาตามกระแสสังคม หากมีข้อมูลในด้านใดที่มีความน่าสนใจมากกว่า เช่น กระบวนการออกแบบ เป็นแคมเปญที่น่าสนใจ มีการช่วยเหลือสังคมที่แปลกใหม่และแตกต่างไปกว่าเดิม ก็อาจจะมีความน่าสนใจนอกเหนือจากข้อมูลประเภทส่งเสริมการตลาดครับ เห็นได้จากผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์เชิงลึกครับผม

                                                                                                             ขอบพระคุณครับ                                                                                                                                                          
                                                                                                                    ผู้วิจัย

rapeephan petchanankul (Visitor)

ขอบคุณค่ะ ชัดเจน ดีงาม