RSUSSH 2020

NA20-008 การออกแบบภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติขาวดำ เพื่อให้กำลังใจเยาวชนไทยที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า

นำเสนอโดย: วาวี พรสิริภักดี
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

        ในยุคของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้รวดเร็วด้วยสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว รวมถึงเยาวชนได้รับข่าวสารทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยคนใกล้ชิดไม่อาจกรองหรือให้คำแนะนำได้ทัน จนก่อตัวเป็นปัญหาสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนของตัวเองในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก เยาวชนส่วนใหญ่ยังขาดวุฒิภาวะทางด้านความคิด ขาดทักษะและประสบการณ์ชีวิต จึงมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ เมื่อเยาวชนได้รับความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าเนื่องจากมีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem)

      การสร้างแอนิเมชัน 2 มิติขาวดำเพื่อเผยแพร่ลงสื่อสังคมออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจเยาวชนที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีเนื้อหาใกล้ตัวกับเยาวชน เช่น สังคมในห้องเรียน ความกดดันจากทางบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้มีการจำลองสภาพจิตใจของตัวละครที่เป็นเยาวชนที่ตระหนักถึงการให้กำลังใจตัวเองอีกด้วย

       แอนิเมชันที่สร้างสรรค์ออกมาอาจไม่สามารถช่วยให้เยาวชนหายจากการเป็นโรคซึมเศร้า หรือ การมีความพึงพอใจในตัวเองต่ำได้ แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และให้กำลังใจผู้ที่มีแนวโน้ม และอยู่ในความสิ้นหวังได้ การสื่อสารครั้งนี้ไม่ได้นำเสนอเพื่อให้แก้ปัญหาให้หายขาด แต่เป็นการสื่อสารให้เยาวชนตระหนักถึงสภาพจิตใจตัวเองเพื่อสร้างเสริมกำลังใจในการใช้ชีวิตให้กับเยาวชน

Keywords: โรคซึมเศร้า; ความพึงพอใจในตัวเองตํ่า; เยาวชน; ให้กำลังใจ; แอนิเมชัน 2 มิติ

Citation format:

วาวี พรสิริภักดี, พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา, และชัยพร พานิชรุทติวงศ์. (2020). การออกแบบภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติขาวดำ เพื่อให้กำลังใจเยาวชนไทยที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

aamaal phakdeetham chimvilaisup (Visitor)

เรียนสอบถามค่ะ อะนิเมชั่นนี้สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มเท่านั้น เพื่อการสร้างกำลังใจใช่มั้ยคะ เพราะเข้าใจว่าผู้ที่ป่วยซึมเศร้าจะเกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่ปกติด้วย

ต้องได้รับการรักษา จึงคิดว่าอนิเมชั่นนี้ น่าจะเป็นตัวแทนของเยาวชนไทยทั่วไป เพื่อเป็นการให้กำลังใจในการใช้ชีวิตมากกว่า ส่วนเรื่องของขาวดำ ดูดีค่ะ แต่คาแรกเตอร์

ของตัวละครดูเป็นอนิเมชั่นญี่ปุ่นมาก ไม่ทราบว่าทำไมถึงต้องใช้คาแรคเตอร์นี้ และมีผลตอยรับคาแรคเตอร์นี้อย่างไรคะ

ด้วยความนับถือ

อามาล ภ. ฉิมวิไลทรัพย์

วาวี พรสิริภักดี (Presenter)

เรียนคุณ อามาล ภ. ฉิมวิไลทรัพย์

ใช่ค่ะ นี่เป็นแอนิเมชันสำหรับเยาวชนที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้ทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าหายขาดแต่อย่างใด เป็นการให้กำลังใจ และให้เยาวชนตระหนักถึงการให้กำลังใจในตัวเองมากขึ้นค่ะ

ในส่วนของตัวละครที่ออกแบบ ด้วยรูปแบบของการสานเส้น ภาพขาวดำ ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาหนังสือการ์ตูน และแอนิเมชัน2มิติของญี่ปุ่น ตัวละครที่ออกแบบจึงมีแนวโน้มไปทางนั้น และผลตอบรับที่ได้จากแบบสอมถามเกี่ยวกับคาแรคเตอร์ เยาวชนให้ความชื่นชอบและสนใจการดีไซน์นี้ จึงนำตัวละครดังกล่าวมาใช้ในแอนิเมชันค่ะ

ด้วยความเคารพ

วาวี พรสิริภักดี