RSUSSH 2020

NA20-007 การศึกษาเรื่องการผลิตสื่อแอนิเมชัน 3 มิติ เพื่อรณรงค์การลดขยะพลาสติก ภายใต้แนวคิดการแปรใช้ใหม่

นำเสนอโดย: ธนพร งามจิตร
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

          งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์การลดขยะพลาสติกโดยใช้หลักการแปรใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดปัญหาภาวะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต การแปรใช้ใหม่เป็นหลักการที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง เพียงใช้วัสดุใกล้ตัวเปลี่ยนขยะพลาสติกกลายเป็นของมีประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งสื่อแอนิเมชัน 3 มิติ ความยาวประมาณ 3 นาที จัดทำขึ้นเพื่อให้กลุ่มผู้ชมอายุตั้งแต่ 6-15 ปี สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนและกิจกรรมได้ โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสองพี่น้องประดิษฐ์ของเล่นจากขยะพลาสติกมาเล่นกัน แต่พี่ชายเผลอเล่นกับน้องสาวรุนแรงเกินทำให้เสื้อเธอฉีกขาด โชคดีที่ในชุมชนมีโครงการประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ (D.I.Y Waste to Goods) พี่ชายจึงคิดเปลี่ยนขยะพลาสติกในชุมชนให้กลายเป็นของขวัญแก่น้องสาวเพื่อไถ่โทษที่ตนเองทำผิด เรื่องราวน่ารักระหว่างความสัมพันธ์พี่น้อง และขยะพลาสติกจึงเกิดขึ้น โดยขั้นตอนงานวิจัยเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ  ผ่านการวิเคราะห์ และสังเคราะห์กลายมาเป็นภาพยนตร์สั้นที่เน้นใช้ตัวละครวัยเด็ก กับขยะพลาสติกเป็นตัวดำเนินเรื่องโดยใช้ภาพและเสียงประกอบเล่าเรื่องแทนการใช้บทพูด ทำให้ทุกชนชาติเข้าใจเนื้อหาอีกทั้งผลงานวิจัยเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์สามารถเผยแพร่สู่สากลได้ จากแบบสอบถามความคิดเห็นต่อภาพยนตร์สามมิติเรื่อง Exchange จำนวน 30 คน พบว่ากลุ่มผู้ชมให้คะแนนความพึงพอใจด้านความสวยงามของการออกแบบฉากและตัวละครมากที่สุด ทางด้านเนื้อเรื่องผู้ชมให้คะแนนความพึงพอใจน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันรองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ให้คำแนะนำด้านเนื้อเรื่องให้เจาะจงมากขึ้นในเรื่องการเชิญชวนนำขยะพลาสติกมาแปรใช้ใหม่ ทางด้านการออกแบบตัวละครมีความน่ารัก เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

Keywords: แอนิเมชัน 3 มิติ; ขยะพลาสติก; การแปรใช้ใหม่; เศรษฐกิจหมุนเวียน

Citation format:

ธนพร งามจิตร, กฤษดา เกิดดี, และชัยพร พานิชรุทติวงศ์. (2020). การศึกษาเรื่องการผลิตสื่อแอนิเมชัน 3 มิติ เพื่อรณรงค์การลดขยะพลาสติก ภายใต้แนวคิดการแปรใช้ใหม่. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

ส่งศักดิ์ อ่อนสุวรรณ์ (Participant)

สอบถาม กลุ่มอายุของผู้ชมที่มีช่วงอายุที่ค่อนข้างกว้าง 6-15 ปีเมื่อเทียบกับความสนใจกับพัฒนาการแต่ละช่วงอายุ มีผลต่อการกำหนดเนื้อหาและคาแรคเตอร์ของตัวหรือไม่ ถ้ามี มีวิธีแก้ไขหรือวิธีออกแบบอย่างไรให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้

ธนพร งามจิตร (Presenter)

เรียนคุณส่งศักดิ์ อ่อนสุวรรณ์

จากช่วงอายุที่กำหนดมีผลต่อการออกแบบอย่างมาก เพราะ เด็กเล็กไม่สามารถตีความเนื้อหา และอารมณ์ของตัวละครที่ซับซ้อนได้ จึงออกแบบคาแรกเตอร์ที่มีรูปลักษณ์ สีสันต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังใช้ม้ายูนิคอนที่ตอนนี้เป็นที่นิยมในเด็กเล็กมาทำเป็นของเล่นจากขยะพลาสติกเพื่อให้เกิดการจดจำ ถึงแม้เด็กจะเข้าใจเนื้อหาได้น้อยกว่าผู้ใหญ่แต่เด็กสามารถตัดสินความสวยงามของภาพยนตร์ได้เนื่องจากทุกคนเคยดูภาพยนตร์ 3 มิติ ของค่ายต่างประเทศอย่าง Disney, Pixar หรืออื่น ๆ ทำให้เกิดบรรทัดฐานของผลงานขึ้น ถ้าทำไม่ใกล้เคียง กลุ่มผู้ชมอายุตั้งแต่ 6-15 ปีขึ้นไปจะให้คะแนนด้านความสวยงามน้อยลง

ฉะนั้นในทางแก้ไขผู้วิจัยจึงเน้นไปที่งานกราฟิกภาพยนตร์ และเสียงประกอบเป็นหลักเพื่อดึงดูดผู้ชมให้สนใจภาพลักษณ์ผลงานก่อน หลังจากนั้นจึงดำเนินเรื่องง่าย ๆ ตรงไปตรงมาให้เด็กสามารถเข้าใจได้ 

aamaal phakdeetham chimvilaisup (Visitor)

เรียนคุณธนพร งามจิตร 

ดิฉันเห็นด้วยกับการทำคลิปเพื่อส่งเสริมการนำขยะรีไซเคิลมา re-used และอื่นๆ ในเนื้อหาคิดว่าการเล่าเรื่อง (Story Telling) มีจุดไคลแม๊กซ์น้อยไปค่ะ

นอกจากนี้อยากเรียนสอบถามเพิ่มเติมว่า ช่วงวัยที่จะนำเสนอในยุคดิจิตัลนี้ สำหรับ 15 ปี เนื้อหาจะดูน้อยเกินไปมั้ยคะ ถ้าเทียบกับการรับรู้ของเด็กในยุคปัจจุบัน

และได้ลองทดสอบแบบสอบถามกับเด็กช่วงอายุไหนเพิ่มเติมบ้างคะ

ด้วยความนับถือ

อามาล ภ. ฉิมวิไลทรัพย์

ธนพร งามจิตร (Presenter)

เรียนคุณอามาล ภ. ฉิมวิไลทรัพย์

นอกจากสอบถามความคิดเห็นกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังได้ข้อแนะนำจากกลุ่มผู้ชมวัยทำงาน (20-50 ปี) ในด้านเนื้อหาว่า เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจไม่มากพอ ควรเพิ่มจุดไคลแม็กซ์ให้มากกว่านี้ แต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้อายุ 6-15 ปี จึงเลือกใช้เนื้อเรื่องที่ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อนเพื่อให้เด็กเล็กเข้าใจง่าย ผู้วิจัยต้องยอมรับว่าเนื้อเรื่องยังไม่น่าสนใจเท่าที่ควร และตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้เล็กน้อย แต่หวังว่าผลงานวิจัยนี้จะช่วยเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ที่สนใจนำไปพัฒนาต่อไปค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ธนพร งามจิตร