RSUSSH 2020
NA20-125 การศึกษาเชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลนิยายแปลเรื่อง “ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส”
นำเสนอโดย: ตวงวิทย์ วิทูรพีรบัณฑิต
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย
Abstract
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับบทแปลและกลวิธีการแปลนิยายแปลเรื่อง “ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส” (Flowers for Mrs. Harris) จากผู้เขียน พอล กาลลิโค (2559) และแปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์ โดยเลือกตัวอย่างจำนวน 21 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ และนำหลักเกณฑ์การปรับบทแปล และกลวิธีการแปลของ สัญฉวี สายบัว (2560) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ การปรับระดับคำ และระดับโครงสร้างของภาษา จากการวิเคราะห์สามารถสรุปได้ว่า การปรับบทแปลระดับคำประเภทที่พบมากที่สุด คือ ประเภทการเติมคำอธิบาย และความถี่มากที่สุดลำดับถัดมา คือ ประเภทการตัดคำหรือสำนวนทิ้งไป ในส่วนของการปรับบทแปลระดับโครงสร้างภาษานั้น พบประเภทการปรับวิธีการเรียงคำในประโยคหรือวลีมากที่สุด รองลงมา คือ ประเภทการเพิ่มและละคำในประโยค นอกจากนี้แล้วด้านกลวิธีการแปลนั้น พบว่าส่วนใหญ่ ผู้แปลเลือกที่จะแปลแบบตรงตัว เพื่อรักษาความหมายของเนื้อหาในต้นฉบับ รวมถึงอรรถรสและความเป็นธรรมชาติ ที่ผู้แต่งได้สรรค์สร้างขึ้นมาเป็นอย่างดี
Citation format:
ตวงวิทย์ วิทูรพีรบัณฑิต, และนครเทพ ทิพยศุภราษฏร์. (2020). การศึกษาเชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลนิยายแปลเรื่อง “ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส”. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
นอกจากกรอบแนวคิดของสัญฉวี สายบัว ผู้วิจัยคิดว่ามีกรอบแนวคิดของนักทฤษฏีท่านอื่นอีกหรือไม่ ที่สามารถมาปรับใช้กับการวิเคราะห์นิยายเรื่อง ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส นี้ค่ะ
เรียน คุณอาริษา ขันกสิกรรม
ขอขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ ดิฉันคิดว่า นอกจากกรอบแนวคิดของสัญฉวี สายบัว ยังมีแนวคิดทฤษฎีของลาร์สัน ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการวิเคราะห์นิยายแปลเรื่อง "ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส" ได้ค่ะ เนื่องจากทฤษฎีของลาร์สันเป็นทฤษฎีที่เน้นในเรื่องความหมายในการแปล ที่ต้องถ่ายทอดออกมาให้ใกล้เคียงหรือเหมือนกับต้นฉบับมากที่สุด อีกทั้งยังคงรักษาอรรถรสของภาษา รวมไปถึงวัฒนธรรมด้วยค่ะ
ตวงวิทย์ วิทูรพีรบัณฑิต
@คุณตวงวิทย์ วิทูรพีร
อะไรคือสาเหตุแรงจูงใจที่ทำให้คุณตวงวิทย์เลือกหนังสือนิยายเรื่อง "ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส"มาทำการวิเคราะห์มีข้อดีอย่างไรบ้างคะ
เรียน คุณ HATAIKARN
ขอขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ ในส่วนของแรงจูงใจหรือสาเหตุที่ทำให้ดิฉันเลือกนิยายแปลเรื่อง "ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส" มาทำการวิเคราะห์การปรับบทแปล เกิดจากดิฉันได้อ่านนิยายเรื่องนี้ แล้วเกิดความประทับใจ รู้สึกว่า เนื้อหาของนิยาย มีการสอดแทรกแง่คิดที่ดีและมุมมองที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องของความฝัน ความมุ่งมั่น ความมานะอดทน ที่จะทำให้ความฝันเกิดเป็นผลสำเร็จ ขณะเดียวกัน แม้ชีวิตต้องพบเจอกับอุปสรรค ก็ไม่หมดความหวังและกำลังใจ
สำหรับข้อดีหรือจุดเด่นของนิยายแปลเรื่องนี้ คือการใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่อ่านแล้วกินใจ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมระหว่างชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง ที่มีความแตกต่างกันในสังคม ดิฉันซึ่งเป็นผู้วิจัย คาดว่าการศึกษาวิเคราะห์การปรับบทแปลนิยายเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจศึกษาด้านภาษาอังกฤษและการแปล จึงได้เลือกนิยายเรื่องนี้มาทำการวิเคราะห์การปรับบทแปลค่ะ
ตวงวิทย์ วิทูรพีรบัณฑิต