RSUSSH 2020

NA20-129 การศึกษาเชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลจากเรื่องสั้น “ปีศาจกบ และจูโกโร” “อะไรอยู่ในถ้วยชา” และ “เพลงจิ้งหรีด”

นำเสนอโดย: อาริษา ขันกสิกรรม
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการปรับบทแปลและกลวิธีการแปลที่ปรากฏในเรื่องสั้น จำนวน 3 เรื่อง คือ “ปีศาจกบและจูโกโร” “อะไรอยู่ในถ้วยชา” และ “เพลงจิ้งหรีด” (“The story of Chugoro”, “In a cup of tea”, “Kusa-Hibari”) จากหนังสือเรื่อง Kotto: Being Japanese Curios, with Sundry Cobwebs ประพันธ์โดยแล็ฟคาดิโอ เฮิร์น (Lafcadio Hearn) โดยในฉบับแปลใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ผีญี่ปุ่น” โดยมีปาริฉัตร เสมอแข เป็นผู้แปล ผู้วิจัยนำหลักเกณฑ์ในการปรับบทแปลของสัญฉวี สายบัว (2560) และโมนา เบเคอร์ (Baker, 2535) เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ โดยการจำแนกตัวอย่างทั้งหมดออกเป็นจำนวน 21 ตัวอย่าง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การปรับระดับคำและการปรับระดับโครงสร้างของภาษา จากผลการศึกษาพบว่า การปรับบทแปลระดับคำที่พบมากที่สุดคือ การตัดคำหรือสำนวนทิ้งไป รองลงมาคือ การใช้วลีหรือประโยคแทนคำ ส่วนการปรับบทแปลระดับโครงสร้างของภาษาที่พบมากที่สุดคือ การเพิ่มและละคำในประโยค รองลงมาคือ การปรับระเบียบวิธีเรียงคำในประโยค ในส่วนกลวิธีการแปลพบว่าผู้แปลใช้ทั้งการแปลแบบตรงตัวและการแปลแบบเอาความ ส่วนใหญ่ผู้แปลเลือกที่จะแปลเอาความเพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติในภาษาปลายทาง

Keywords: กลวิธีการแปล; การปรับบทแปล; เรื่องสั้น

Citation format:

อาริษา ขันกสิกรรม, นครเทพ ทิพยศุภราษฏร์, และศิริมน ศรีนพรัตน์. (2020). การศึกษาเชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลจากเรื่องสั้น “ปีศาจกบ และจูโกโร” “อะไรอยู่ในถ้วยชา” และ “เพลงจิ้งหรีด”. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

ตวงวิทย์ วิทูรพีรบัณฑิต (Participant)

ทำไมผู้แปลจึงเลือกใช้กลวิธีการแปลแบบเอาความมากกว่าการแปลแบบตรงตัว ในเรื่องสั้นทั้ง 3 เรื่อง คือ ปีศาจกบและจูโกโร , อะไรอยู่ในถ้วยชา และเพลงจิ้งหรีด และผู้วิจัยคิดว่า การแปลแบบเอาความมีข้อดีอย่างไร

ขอบคุณค่ะ

อาริษา ขันกสิกรรม (Presenter)

จากคำถามของคุณตวงวิทย์ วิทูรพีรบัณฑิต

ผู้แปลเลือกการแปลแบบเอาความซึ่งเหมาะสำหรับการแปลต้นฉบับที่มีบทสนทนาค่อนข้างมากในเรื่องสั้นทั้ง 3 เรื่องนี้ โดยเรียงลำดับความคิดใหม่ ทั้งการลำดับวลี ประโยคหรือกลุ่มประโยค

และข้อดีของการแปลแบบเอาความ คือ สามารถถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นฉบับไปสู่ภาษาแปลอย่างเป็นธรรมชาติ ภาษามีความสละสลวย และสามารถสื่อความหมายจากต้นฉบับสู่ฉบับแปลอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนได้ใจความ