RSUSSH 2020

NA20-089 การหาองค์ประกอบโครงการเพื่อใช้ในการออกแบบโฮสเทลสำหรับผู้หญิงโดยใช้วิธีฐานนิยม

นำเสนอโดย: สุวภัทร อุไรวงค์
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

     งานวิจัยนี้ทำศึกษาการออกแบบโฮสเทลสำหรับผู้หญิงโดยทำการสำรวจเนื้อหาของโฮสเทลสำหรับผู้หญิงจำนวน 90  แห่งจากเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ทเพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลองค์ประกอบส่วนต่างๆของโครงการประเภทนี้ เช่นที่ตั้งโครงการ กิจกรรม พื้นที่ใช้สอย ราคา ตลอดจนรูปแบบทางกายภาพ ฯลฯ ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้วิธีฐานนิยม (Mode) ซึ่งได้แก่การหาค่ากลางที่มีจำนวนมากที่สุดขององค์ประกอบส่วนต่างๆแต่ละส่วน โดยมีหลักการคือหาตัวข้อมูลที่ซ้ำกันมากที่สุด ซึ่งจะทำให้รู้ถึงองค์ประกอบที่โฮสเทลสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่มี  จากนั้นข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาปรับใช้ในขั้นตอนการจัดทำโปรแกรมการออกแบบของโครงการโฮสเทลสำหรับผู้หญิงตามที่ได้กล่าวมา และจากการสำรวจพบว่าข้อมูลที่ได้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบส่วนต่างๆของโครงการประเภทนี้ โดยข้อมูลขององค์ประกอบหลักที่โฮสเทลสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่มีจากการทำฐานนิยมได้ถูกนำมาทดลองจัดทำโปรแกรมการออกแบบขึ้น โครงการที่เกิดขึ้นมีตำแหน่งที่ตั้งบนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆเพื่อการเดินทางที่สะดวก มีรูปแบบของห้องพักมีทั้งห้องส่วนตัวและห้องรวมในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งมาคนเดียวและแบบมาเป็นกลุ่ม มีรูปแบบร้านอาหารซึ่งอาจมีพื้นที่ห้องครัวส่วนกลางโดยให้มีส่วนในการปรุงอาหารเอง สัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนทำอาหารท้องถิ่นจากข้อสรุปในส่วนฐานนิยมของกิจกรรม รวมทั้งมีการจัดทริปท่องเที่ยวและให้เช่าจักรยานซึ่งเป็นแนวทางที่คาดว่าเหมาะกับบริบทที่ตั้ง เป็นโฮสเทลที่มีราคาระดับปานกลางและมีสไตล์การตกแต่งแบบสมัยใหม่แต่สอดคล้องกับบริบทความเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้องค์ประกอบทั้งหมดถูกนำไปปรับแก้ให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทในด้านต่าง ๆของโครงการในขั้นตอนต่อไป

Keywords: นักท่องเที่ยวเดินทางคนเดียว; โฮสเทลสำหรับผู้หญิง; พฤติกรรมนักท่องเที่ยว; ฐานนิยม

Citation format:

เอก เจริญศิลป์, และสุวภัทร อุไรวงค์. (2020). การหาองค์ประกอบโครงการเพื่อใช้ในการออกแบบโฮสเทลสำหรับผู้หญิงโดยใช้วิธีฐานนิยม. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

paiboon kittikul (Visitor)

มีข้อซักถามครับ จากปัจจัยที่พูดถึงนั้นมุ่งเน้นไปในทางการจัดการโปรแกรม จึกอยากทราบว่า

1.มิติความสนใจของลูกค้า เรื่องสไตล์ รูปแบบ และรสนิยม ที่เปลี่ยนไปตามโลเคชั่นต่างๆ จะสามารถสรุปด้วยการสำรวจจำนวนฐานนิยมได้อย่างไร 

2.ในกรณี Niche Market ตัวเลขสรุปฐานนิยมจะสามารถกำหนดดีไซน์ในลักษณะไหน เมื่อตลาดกลุ่มย่อยมีความหลากหลายอย่างมาก 

ขอบคุณครับ

สมสฤทธิ์ ตาณพันธุ์ (Participant)

การหาองค์ประกอบของโครงการเพื่อใช้ในการออกแบบโฮสเทลสำหรับผู้หญิงโดยใช้ฐานนิยม รายชื่อโฮสเทลสำหรับผู้หญิงจำนวน 90 แห่ง ที่นำมาสำรวจหาข้อมูลโครงการนี้ มีหลักเกณท์ในการคัดเลือกมาอย่างไรบ้างครับ

สุวภัทร อุไรวงค์ (Presenter)

@ สมสฤทธิ์ ตาณพันธุ์
ขอขอบคุณสำหรับคำถามคุณสมสฤทธิ์

หลักเกณท์ในการคัดเลือกรายชื่อโฮสเทลสำหรับผู้หญิงจำนวน 90 แห่งในอินเตอร์เน็ทที่นำมาสำรวจหาข้อมูลโครงการนี้ 
ส่วนแรกเป็นรายชื่อโฮสเทลซึ่งมาจากเว็บไซต์การจัดอันดับของโรงแรมประเภทดังกล่าว
ส่วนถัดมาเป็นลิสท์รายชื่อซึ่งถูกลิสท์ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆของการใช้เสิร์ชเอ็นจินค้นหาจาก google
ส่วนหลักๆได้แก่รายชื่อโฮสเทลจากเว็บไซต์ agoda.com
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้แสดงหลักเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ไว้ในเนื้อหาของตัวเปเปอร์วิจัยด้วยแล้ว

สุวภัทร อุไรวงค์ (Presenter)

@ paiboon kittikul
ขอขอบคุณสำหรับคำถามคุณไพบูลย์ที่กรุณาให้ความสนใจค่ะ

ขออนุญาติตอบคำถามข้อ 1
เริ่มจากคุณสมบัติของการหาค่าฐานนิยมคือชุดของค่าหรือเนื้อหาที่มีจำนวนความซ้ำมากที่สุด นั่นแสดงถึงความเป็นที่นิยมสูงสุด เป็นที่ต้องการหรือเป็นที่มีการถูกใช้งานแพร่หลายสูงสุด หรือมีความเป็นที่ต้องการของตลาดหรือมีความ "ตลาด" สูงสุด ทั้งนี้ตัวแปรที่สำคัญของการหาข้อสรุปของผลลัพธ์น่าจะสัมพันธ์กับ "แหล่งที่มา" และ "ปริมาณ" ของตัวอย่างข้อมูลในการสำรวจ 

หากคาดว่าประเด็นใดๆในการทำสการสำรวจจะเป็นปัญหาในเรื่องผลลัพธ์ของข้อมูล ต้องมีการกำหนดตัวแปรหรือเงื่อนไขในการเก็บข้อมูลให้รัดกุม
ในกรณีของงานวิจัยชิ้นนี้ "รายชื่อ 90 โฮสเทลหลัก" ถูกเลือกมาจากลิสท์รายชื่อที่ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆของการใช้เสิร์ชเอ็นจินค้นหาจาก google
และส่วนหลักๆได้แก่รายชื่อโฮสเทลจากเว็บไซต์ agoda.com ซึ่งเกิดจากความถี่ในการค้นหาและอาจถือว่ามีค่าเทียบเคียงกับค่าฐานนิยมขั้นต้น
องค์ประกอบย่อยๆส่วนต่างๆที่ทำการสำรวจในขั้นต่อไปจากลิสท์รายชื่อโฮสเทลกลุ่มนี้ หากมีค่าฐานนิยมเกิดขึ้นจึงถือว่ามีความ "ตลาด" สูงสุด

ขออนุญาติตอบคำถามข้อ 2 ต่อ
ค่าฐานนิยมที่ได้จากการสำรวจองค์ประกอบส่วนต่างๆตามงานวิจัยซึ่งถือว่ามีความ "ตลาด" สูงสุด  จะกลายเป็นข้อมูลให้เรานำมาพิจารณาเพื่อสร้างจุดยืนทางการตลาด (Positioning) ให้กับเนื้อหาโปรแกรมการออกแบบโครงการของเรา

เราอาจทำเหมือนๆกับชุดข้อมูลต่างๆที่เราหามาได้ กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบ "Me too" หรือคนส่วนใหญ่ทำ ฉันก้อขอทำด้วย
หรือเราอาจทำอะไรๆที่แตกต่างกับชุดข้อมูลต่างๆที่เราหามาได้  กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบ " Niche Market " หรืออาจทำให้สามารถคิด "โมเดลทางการตลาด" แบบอื่นๆขึ้นมาได้จากค่าฐานนิยมที่ได้มาจากเนื้อหาส่วนต่างๆตามที่ได้กล่าวมา