RSUSSH 2020

NA20-105 การศึกษาเชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลจากเรื่องสั้น “แมลงวันผี” “เรื่องของโอคาเมะ” และ “วิญญาณคนเป็น”

นำเสนอโดย: ลดาวรรณ หลำดี
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

     การศึกษาค้นคว้านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับบทแปลและกลวิธีการแปลที่ใช้ในการแปลเรื่องสั้น ที่เกี่ยวกับขนบประเพณี วัฒนธรรม และตำนานต่างๆของญี่ปุ่น จำนวน 3 เรื่อง คือ “แมลงวันผี” “เรื่องของโอคาเมะ” และ “วิญญาณคนเป็น” (“Story of fly”, “The Story of Okame” and “Ikiryo”) จากหนังสือเรื่อง Kotto: Being Japanese Curios, with Sundry Cobwebs ประพันธ์โดยแล็ฟคาดิโอ เฮิร์น ซึ่งในฉบับแปลใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ผีญี่ปุ่น” มีปาริฉัตร เสมอแข เป็นผู้แปล โดยจำแนกเนื้อหาทั้งหมดจากฉบับแปลภาษาไทยออกเป็น 20 ตัวอย่าง และใช้กลวิธีการแปลร่วมกับหลักเกณฑ์การปรับบทแปลของ สัญฉวี สายบัว (2560) และโมนา เบเคอร์ (2535) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ซึ่งสามารถจำแนกได้ 2 ระดับคือ การปรับระดับคำ และการปรับระดับโครงสร้างของภาษา จากผลการวิเคราะห์สามารถสรุปได้ว่าประเภทการปรับบทแปลระดับคำที่พบมากที่สุดคือ การตัดคำหรือสำนวนทิ้งไป ลำดับถัดมาคือ การใช้วลีหรือประโยคแทนคำ ในส่วนของการปรับบทแปลในระดับโครงสร้างประเภทที่พบมากที่สุดคือ การปรับรูปกรรตุวาจกและกรรมวาจก รองลงมาคือการปรับระเบียบวิธีเรียงคำในประโยค ในส่วนของกลวิธีการแปล พบว่าผู้แปลใช้การแปลแบบเอาความมากกว่าการแปลแบบตรงตัวสลับกับการปรับบทแปลในทางทฤษฎีเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบภาษาไทยที่ผู้อ่านคุ้นเคย

Keywords: การปรับบทแปล; กลวิธีการแปล; นวนิยาย; ปาริฉัตร; เสมอแข

Citation format:

ลดาวรรณ หลำดี, นครเทพ ทิพยศุภราษฏร์, และศิริมน ศรีนพรัตน์. (2020). การศึกษาเชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลจากเรื่องสั้น “แมลงวันผี” “เรื่องของโอคาเมะ” และ “วิญญาณคนเป็น”. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

พีรดนย์ เจริญผล (Visitor)

เรียนคุณลดาวรรณ หลำดี

จากการฟังการนำเสนอแล้ว ผมมีข้อคำถามดังนี้ครับ

 

จากผลวิจัยที่พบว่า การตัดคำหรือสำนวนทิ้งไป เป็นเทคนิคการแปลระดับคำที่พบมากที่สุดในการวิจัยครั้งนี้

อยากทราบเหตุผลว่า เพราะอะไรที่ทำให้ผู้แปลเลือกใช้เทคนิคการแปลนี้ครับ?

 

ขอบคุณ และขอแสดงความยินดีด้วยครับ

พีรดนย์ เจริญผล

Nimnual Visedsun (Visitor)

ขอถามนะคะ

การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลที่ใช้ในการแปลเรื่องสั้น  ตามข้อค้นพบจากการวิเคราะห์เนื้อหา  ส่งผลต่อคุณภาพเรื่องสั้น ที่ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้อ่าน มากขึ้นหรือไม่  หรือเป็นสไคล์ที่อยู่ในความนิยมอยุ่แล้วสำหรับนักเขียนเรื่องสั้น

ลดาวรรณ หลำดี (Presenter)

เรียน คุณพีรดนย์ เจริญผล

เนื่องจากบางคำหรือบางสำนวนในภาษาต้นฉบับอาจเป็นข้อความที่ยาวเกินความจำเป็นหรือไม่ใช่ความหมายสำคัญของเนื้อเรื่องหลัก ซึ่งหากตัดออกไปก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องหรือความหมายโดยรวมผู้แปลจึงได้ตัดส่วนนี้ออกค่ะ โดยที่ผู้แปลยังสามารถรักษาสาระสำคัญของเนื้อเรื่องไว้ได้ค่ะ

 

ขอบพระคุณมากค่ะ

ลดาวรรณ หลำดี

ลดาวรรณ หลำดี (Presenter)

เรียน คุณNIMNUAL VISEDSUN

ในการแปลเรื่องสั้นให้สละสลวย ไหลลื่นและผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายนั้นขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจรวมถึงประสบการณ์ของผู้แปลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของภาษาต้นฉบับด้วย บ่อยครั้งที่นักแปลมักจะใช้กลวิธีการแปลเข้าช่วย เช่นการแปลแบบเอาความที่ผู้แปลมุ่งเน้นไปที่จะถ่ายทอดความหมายโดยรวมของเนื้อเรื่องให้ตรงตามต้นฉบับแล้วจึงเลือกประโยคที่คุ้นเคย ฟังดูเป็นธรรมชาติมาใช้เพื่อความเข้าใจง่ายของผู้อ่าน ดังนั้นคุณภาพของเรื่องสั้นที่ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านจึงมักจะเป็นสไตล์การเขียนของผู้แปลแต่ละท่านค่ะ 

ขอบพระคุณค่ะ

ลดาวรรณ หลำดี