RSUSSH 2020

NA20-060 การเปลี่ยนแปลงของศักย์ไฟฟ้าในเซลล์ประสาทไตรเจมินัลแกงเกลียนที่เกิดภาวะพร่องซีโรโทนินและคอร์ติคัลสเปรดดิ้งดีเพรซชัน

นำเสนอโดย: นาอีมะฮ์ หะยีอาซา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย

Abstract

     การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในร่างกายส่งผลกระทบต่อระบบประสาทซึ่งการเปลี่ยนแปลงของซีโรโทนินที่ลดต่ำลงจะส่งผลต่อเซลล์ประสาทไตรเจมินัลนอกจากนี้แล้วการเกิดคอร์ติคัลสเปรดดิ้งดีเพรซชันก็มีผลด้วยเช่นกัน วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือเพื่อศึกษาคุณสมบัติทางไฟฟ้าของเซลล์ประสาทไตรเจมินัลแกงเกลียที่เกิดภาวะซิโรโทนินต่ำ และการเกิดคอร์ติคัลสเปรดดิ้งดีเปรสชัน โดยศึกษาในหนูแรทสายพันธุ์ Wistar เพศผู้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มควบคุม, กลุ่ม 5HT depleted, กลุ่ม CSD และกลุ่ม Combine โดยหนูแรททั้งหมดจะถูกการุณยฆาตและทำการแยกเซลล์ไตรเจมินัลแกงเกลียออกมา จากนั้นนำไปศึกษาคุณสมบัติทางสรีรวิทยาไฟฟ้าโดยใช้เครื่องมือแพทช์แคลมป์ ผลการศึกษาพบว่าค่า Total spikes หรือ จำนวน AP ที่เซลล์สร้างขึ้นนั้นมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่ม CSD และกลุ่ม Combine เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม p-value =0.04, 0.025 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม 5HT depleted ก็พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p-value =0.034, 0.021 ตามลำดับ จากผลการศึกษาสามารถอภิปรายได้ว่าซีโรโทนินต่ำและการเกิดคอร์ติคัลสเปรดดิ้งดิเพรซชันส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของจำนวน Total spike ในเซลล์ประสาทไตรเจมินัลแกงเกลีย

Keywords: ไมเกรน; ภาวะพร่องซีโรโทนิน; คอร์ติคัลสเปรดดิ้งดีเพรซชัน; สรีรวิทยาไฟฟ้า

Citation format:

นาอีมะฮ์ หะยีอาซา, เสกข์ แทนประเสริฐสุข, และศักนัน พงศ์พันธ์ุผู้ภักดี. (2020). การเปลี่ยนแปลงของศักย์ไฟฟ้าในเซลล์ประสาทไตรเจมินัลแกงเกลียนที่เกิดภาวะพร่องซีโรโทนินและคอร์ติคัลสเปรดดิ้งดีเพรซชัน. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

Sataporn (Visitor)

สวัสดีครับ ผมมี 2 คำถาม ดังนี้

1.ขอคำอธิบายว่า ทำไมจำนวน Total spikes ของกลุ่ม 5HT depleted มีค่าใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุม (เหมือนจะสูงกว่าเล็กน้อย) ผมไม่แน่ใจว่าจะขัดแย้งกับผลของกลุ่ม Combine หรือเปล่าที่ให้ค่าต่ำที่สุด

2.เมื่อสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของศักย์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในในเซลล์ประสาทได้ งานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านไหน

ขอบคุณครับ

นาอีมะฮ์ หะยีอาซา (Presenter)

สวัสดีค่ะ ตอบคำถามคุณ SATAPORN (VISITOR) นะคะ

1. การที่กลุ่ม 5HT depleted มีจำนวนของ Total spikes ที่ใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมนั้นอาจเป็นว่าเป็นการ induced ที่เป็นลักษณะของ systemic ซึ่งปริมาณของ 5HT ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลให้จำนวน Total spikes เพิ่มมากขึ้นค่ะ  อีกนัยหนึ่งอาจเป็นเพราะ Cortical spreading depression มีผลทำให้ลดความไวต่อการตอบสนองของเซลล์ ทำให้เซลล์มีการสร้างกระแสไฟฟ้าที่ลดน้อยลง เนื่องจากเมื่อเกิดไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดการปรับตัวของระบบประสาทจนทำให้การกระตุ้นซ้ำ ๆ เป็นไปได้ยากขึ้นค่ะ 

2. เราสามารถนำเอางานวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านระบบอื่นๆได้ค่ะ อาจจะนำไปปรับใช้ในระบบหัวใจและหลอดเลือดเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของศักย์ไฟฟ้าในเซลล์ของหัวใจเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นในคนไข้หรือ Model ที่เกี่ยวข้องกับโรคทางหัวใจได้ค่ะ 

ขอบคุณค่ะ