RSUSSH 2020
NA20-073 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับมาตรการการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินในประเทศไทยของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
นำเสนอโดย: ทิพากร ณ บางช้าง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ไทย
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับมาตรการการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งมาตรการจูงใจทางผังเมืองนี้ถูกกำหนดอยู่ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 เพื่อกระตุ้นให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของที่ดิน ใช้ประโยชน์ที่ดินให้หลากหลาย และร่วมกันเพิ่มความสมดุลระหว่างความหนาแน่นของการพัฒนาโครงการและการบริการสาธารณูปโภคในเมือง ในปัจจุบันมาตรการจูงใจนี้แบ่งเป็น 5 มาตรการย่อย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8 มาตรการย่อยในผังเมืองเมืองรวมฉบับใหม่ มาตรการจูงใจนี้ยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวด คือ ประโยชน์ต่อสังคม ประโยชน์ต่อการคมนาคม และประโยชน์ต่อการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเมือง อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันมีเพียงแค่ 2 มาตรการเท่านั้น ที่มีการขอใช้สิทธิ์ ดังนั้นงานวิจัยนี้จะศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับมาตรการโบนัสของนักพัฒนาโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและนำมาตรการไปใช้ให้หลากหลายมากขึ้น งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 308 คน ที่เป็นเจ้าของโครงการ ผู้พัฒนาและผู้ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจใช้มาตรการจูงใจในการพัฒนาโครงการ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์แบบจำลองความถดถอยพหุคูณ จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งของโครงการ และระยะทางจากโครงการถึงถนนสายย่อย มีผลต่อการยอมรับการใช้มาตรการการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินทั้ง 3 หมวด
Citation format:
ทิพากร ณ บางช้าง, และพรรัตน์ พงษ์ประเสริฐ. (2020). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับมาตรการการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินในประเทศไทยของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
จากการที่ในปัจจุบัน มีเพียง 2 มาตรการเท่านั้นที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ออกมาใช้สิทธิ จากทั้งหมด 5 มาตรการซึ่งกำลังจะเพิ่มเป็น 8 มาตรการ จะเป็นข้อสังเกตในประเด็นที่จะทำให้คาดการณ์ได้ว่า 2 มาตรการดังกล่าวตรงกับความต้องการของเจ้าโครงการหรือมีความสอดคล้องกับแผนธุรกิจหรือแผนโครงการสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้นผลการวิจัยที่ได้ อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการออกมาตรการเเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนี้ ขอเสนอให้ขยายผลการวิจัยนี้ไปยังมาตรการที่ไม่มีใครใช้สิทธิ ว่าเป็นเพราะเหตุใด มีปัจจัยใดที่สัมพันธ์ น่าจะเป็น Motivation ที่ทำให้ได้ผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารผังเมืองในการปรับปรุงมาตรการหรือออกมาตรการใหม่
ตอบคุณ NIMNUAL VISEDSUN
ขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ
จากผลการวิจัยพบว่าทั้ง 5 มาตรการในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในระดับการแปลความหมายว่า เหมาะสม อยู่แล้วค่ะ และจากการวิจัยในเรื่องของปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้มาตรการ พบว่าปัจจัยที่มีผลคือเรื่องของทำเลที่ตั้งของโครงการ พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เสียเพิ่มขึ้นในการก่อสร้าง รวมถึงประเภทของโครงการที่พัฒนาว่ามีความเหมาะสมกับแต่ละมาตรการหรือไม่ค่ะ
ดังนั้นหากจะทำการพัฒนาปรับปรุงมาตรการในอนาคต ผู้วิจัยคิดว่าสามารถนำปัจจัยที่ได้จากการวิจัย มาเป็นข้อพิจารณาได้ค่ะ หรือหากมีการวิจัยเพิ่มเติมเจาะลึกเป็นรายมาตรการตามที่คุณ NIMNUAL เสนอ ก็จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
ทิพากร ณ บางช้าง