RSUSSH 2020

NA20-097 การสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง (Life Coach) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

นำเสนอโดย: สุทธญาณ์ บุญเต็ม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ไทย

Abstract

     งานวิจัย เรื่อง “การสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง (Life Coach) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์” เป็นงานวิจัยคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเอกลักษณ์และวิธีการพูดของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจวิธีการนำเสนอของการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และประโยชน์ที่ได้รับของผู้ฟังต่อรายการพูดสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง (Life Coach) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้วิธีวิเคราะห์เอกสาร (Document Analysis) จากเพจเฟซบุ๊กจำนวน 4 และเพจยูทูป จำนวน 4 ช่อง ได้แก่ 1.ฌอน บูรณะหิรัญ 2.สินธุเสน เขจรบุตร 3. เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา  และรสสุคนธ์ กองเกตุ ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน – 31 มกราคม 2563 ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) คือ ผู้ติดตามรายการของนักพูดทั้ง 4 คนข้างต้น ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊กและยูทูป เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 28 คน จากนั้น นำเสนอในรูปแบบพรรณนา (Descriptive Writing) ผลการวิจัยพบว่า 1. เอกลักษณ์และวิธีการพูดของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจมีความแตกต่างกันในแต่ละคน ทำให้การแสดงออกทางท่าทาง และวิธีการพูดแตกต่างกันไปด้วย 2. วิธีการนำเสนอของการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ มีประเภทเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ดังนี้ 1) รูปภาพและข้อความ 2.) อินโฟกราฟิก 3) เฟซบุ๊กไลฟ์ 4) วีดีโอ และ 5) การแชร์ลิงค์จากแหล่งอื่นๆ  รูปแบบรายการที่นำเสนอผ่านสื่อยูทูป แบ่งได้ 5 รูปแบบ ดังนี้ 1) การจัดรายการเดี่ยว 2.) รายการสนทนาที่มีแขกรับเชิญ 3) รายการพูดที่มีพิธีกรร่วม 4) ยูทูปไลฟ์ 5) วล็อก และประเด็นเนื้อหาที่พบผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ดังนี้ 1) ความรัก 2.) ครอบครัว/ญาติ 3) การเงิน 4) การทำงาน 5) ไลฟ์สไตล์ และ   6) Self Esteem/การเข้าสังคม ทั้งนี้ นักพูดแต่ละคน ยังนำเสนอข่าวสารที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 3. ประโยชน์ที่ได้รับของผู้ฟังต่อรายการพูดสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง พบว่า ผู้ฟังแต่ละคนมีจุดเริ่มต้นในการเปิดรับสื่อแตกต่างกันไป ตามสถานการณ์ชีวิต หรือความต้องการในตอนนั้น ซึ่งการเปิดรับสื่อนี้ มีผลในเชิงบวกต่อทัศนคติ และพฤติกรรม ทุกคนต่างได้รับประโยชน์ในสิ่งที่ตนต้องการ

Keywords: แรงบันดาลใจ; โค้ชชีวิต; สื่อสังคมออนไลน์

Citation format:

สุทธญาณ์ บุญเต็ม, และพรทิพย์ เย็นจะบก. (2020). การสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง (Life Coach) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

กฤษดา กาวีวงศ์ (Participant)

ขออนุญาตสอบถาม ประเภทของเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสื่อ ที่ทำให้ผู้ติดตามให้ความสนใจมากที่สุด เรียงตามลำดับอย่างไรบ้างครับ เพื่อเป็นแนวทางการใข้สื่อที่มีปีะสิทธิภาพต่อไป

พลิดา ดัสดุลย์ (Participant)

ขออนุญาตสอบถาม ประเด็นเนื้อหาที่ไฟล์โค้ดนำเสนอแล้วน่าสนใจมีอะไรบ้าง? แล้วเป็นที่นิยมไหม?

นวพร ชัยทรัพย์ (Participant)

ขอสอบถามว่าเอกลักษณ์ที่แตกต่างของไลฟ์โค้ดแต่ละท่านนั้นมีผลต่อผู้ชมผู้ฟังมากน้อยเพียงใด และลักษณะแบบใดที่เป็นที่นิยมมากที่สุด?

สุทธญาณ์ บุญเต็ม (Presenter)

ตอบคำถาม ของคุณกฤษดา กาวีวงศ์ : ประเภทของเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสื่อ มี 5 ประเภท ดังนี้ 1. รูปภาพและข้อความ 2. Infographic 3. Facebook live 4. Video 5. การแชร์ลิงค์จากแหล่งอื่นๆ ซึ่งสามารถเรียงลำดับความน่าสนใจของผู้ติดตาม คือ 1. ฌอน บูรณะหิรัญ นำเสนอ รูปภาพและข้อความมากที่สุด , สินธุเสน เขจรบุตร นำเสนอ Infographic มากที่สุด , เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และรสสุคนธ์ กองเกตุ นำเสนอ Video มากที่สุด ขอบคุณค่ะ

สุทธญาณ์ บุญเต็ม (Presenter)

ตอบคำถาม ของพลิดา ดัสดุลย์ : ประเด็นเนื้อหาที่ไลฟ์โค้ชนำเสนอมีหลายประเด็นที่น่าสนใจค่ะ เช่น การสอนการเข้าสังคม การมองโลกในแง่ดี การ การเงิน อื่นๆ โดยเนื้อหาที่เป็นทื่นิยม มียอดไลค์ และยอดผู้ชมสูง คือ เนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองค่ะ เนื่องจากทำให้ผู้ติดตามได้คิด ต่อยอด ส่งผลให้พวกเขามีแรงลุกขึ้นสู้กับชีวิต เพื่ออนาคตที่ดีในภายภาคหน้าต่อไป ขอบคุณค่ะ

สุทธญาณ์ บุญเต็ม (Presenter)

ตอบคำถาม ของนวพร ชัยทรัพย์ : เอกลักษณ์ที่แตกต่างกันส่งผลต่อผู้ชมค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ชมบางท่านติดตามไลฟ์โค้ชที่ตัวบุคคล เช่น ติดตามจากบุคคลิก หรือทัศนคติของเขา ดังนั้น หากนำเสนอเนื้อหาใดๆออกมา พวกเขามีแนวโน้มจะชื่นชอบในไลฟ์โค้ชที่ตนติดตามมากกว่า แต่ถ้าไลฟ์โค้ดท่านอื่น นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจ และตรงกับสิ่งที่ผู้ชมต้องการ ณ ขณะนั้น พวกเขาจะลองเปิดใจรับฟังเนื้อหานั้น ขอบคุณค่ะ