RSUSSH 2020

NA20-049 การประเมินความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาอำมฤตย์

นำเสนอโดย: ธนีกา สกุลชิต
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ไทย

Abstract

        อนุมูลอิสระ คือโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวอย่างน้อย 1 อิเล็กตรอน สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนต่าง ๆ ทั้งจากภายในร่างกาย เช่น กระบวนการสร้าง ATP ซึ่งเป็นพลังงานหลักของเซลล์ และจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ในสภาวะปกติร่างกายมีระบบในการกำจัดอนุมูลอิสระส่วนเกินให้กลับมาเป็นปกติ เมื่อเกิดความผิดปกติในการรักษาสมดุลดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะ Oxidative stress หรือภาวะเครียดออกซิเดชัน ซึ่งเป็นภาวะที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเกิดโรคหลายชนิดโดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นที่มาในการศึกษาครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์ในรูปแบบสารสกัดน้ำต่อการต้านอนุมูลอิสระ ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 2 วิธี ได้แก่ การศึกษาการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH (DPPH radical scavenging assay) และ ABTS (ABTS radical scavenging assay) ผลการทดสอบสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์ และ Trolox ซึ่งเป็นสารมาตรฐานรายงานผลเป็นค่าความเข้มข้นของสารที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ 50 เปอร์เซ็นต์ (IC50) จากการทดสอบพบว่าสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์มีค่า IC50 คือ 72.15 ± 2.51 และ 14.53 ± 0.68 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ จากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำตำรับยาอำมฤตย์สามารถต้านอนุมูลอิสระได้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการศึกษาหาสารสำคัญในตำรับยา ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ รวมไปถึงการนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้เป็นยาในการรักษาต่อไป

Keywords: ตำรับยาอำมฤตย์; ภาวะเครียดออกซิเดชัน; ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

Citation format:

ธนีกา สกุลชิต, จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล, และผศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิ้มสุววรณ. (2020). การประเมินความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาอำมฤตย์. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

ผศ.ดร.อรจิรา อารักษ์สกุลวงศ์ (Chairperson)

1.  เมื่อพิจารณาจากผลการทดลองพบว่าค่า IC50 มีค่ามากกว่าสารมาตรฐานค่อนข้างมาก แบบนี้เราจะถือว่าตำรับยาอำมฤตย์มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้หรือไม่

2.  ลักษณะทางกายภาพของสารสกัดน้ำตำรับยาอำมฤตย์เป็นอย่างไร และมีผลกระทบกับการทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระหรือไม่ เนื่องจากการทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระจะต้องสังเกตสีของสารละลายที่เปลี่ยนไป 

ธนีกา สกุลชิต (Presenter)

คำถามข้อที่ 1

เนื่องจากสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์เป็น crude extract เมื่อเทียบกับการศึกษาก่อนหน้าซึ่งมีลักษณะเป็น crude extract ของตำรับยาเช่นเดียวกันส่วนใหญ่จะมีค่า IC50 ต่ออนุมูลอิสระอยู่ในช่วง 100-1000 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (chanthasri, 2018) ซึ่งจะพบว่าสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี แต่หากเป็นสมุนไพรเดี่ยวซึ่งส่วนใหญ่มีค่า IC50 ต่ออนุมูลอิสระในช่วง 10-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร(อรุณ, 2560) จะพบว่าสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่าหรือน้อยกว่าสมุนไพรเดี่ยว และน้อยกว่าสารสกัดที่มีการ purification อีกด้วยค่ะ

คำถามข้อที่ 2 

ลักษณะของสารสกัดน้ำตำรับยาอำมฤตย์เป็นผงสีน้ำตาลอ่อน สีของสารสกัดจะไม่กระทบต่อผลของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากในการคำนวนเมื่อได้ค่าการดูดกลืนแสงของสารสกัดที่ทำปฏิกริยากับอนุมูลอิสระ(OD sample) จะมีการลบกับการดูดกลืนแสงของสารสกัดกับตัวทำละลาย(OD blank) ทำให้ค่าที่ได้หลังจากนั้นจะเป็นค่าของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่มีสีของสารสกัดรบกวนค่ะ