RSUSSH 2020

NA20-048 ความแข็งผิวจุลภาคของเรซินซีเมนต์ชนิดบ่มตัวด้วยแสงและชนิดบ่มตัวสองรูปแบบหลังการฉายแสงผ่านมอนอลิธิคเซอร์โคเนียชนิดโปร่งแสงสามชนิด

นำเสนอโดย: สวรรยา เพชรที่วัง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย

Abstract

                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความแข็งผิวจุลภาคของเรซินซีเมนต์ชนิดบ่มตัวด้วยแสงและชนิดบ่มตัวสองรูปแบบ หลังจากการฉายแสงผ่านมอนอลิธิคเซอร์โคเนียชนิดโปร่งแสงสามชนิด โดยการเตรียมชิ้นงานมอนอลิธิคเซอร์โคเนียชนิดทรานส์ลูเซนต์ ซุปเปอร์ทรานส์ลูเซนต์ และเอกซ์ตราทรานส์ลูเซนต์ เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาด 10×10×1 มิลลิเมตร ชนิดละ 1 ชิ้น โดยใช้เรซินซีเมนต์ 2 ชนิด ได้แก่ Variolink® N LC และ RelyX™ U200 ซึ่งผสมและใส่ลงในช่องว่างของแบบที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร หนา 2 มิลลิเมตร ทำการกระตุ้นการบ่มตัวของเรซินซีเมนต์ด้วยการฉายแสงผ่านมอนอลิธิคเซอร์โคเนีย เป็นเวลา 20 วินาที โดยใช้กลุ่มที่ฉายแสงผ่านสไลด์แก้วเป็นกลุ่มควบคุม (n=5) นำชิ้นทดสอบทั้งหมด 40 ชิ้น เก็บไว้ในสภาวะมืด ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนนำไปวัดค่าความแข็งผิวจุลภาคที่ด้านบนของเรซินซีเมนต์ด้วยเครื่องทดสอบความแข็งผิวจุลภาคแบบวิกเกอร์ (Vicker hardness tester) นำผลการทดสอบในแต่ละกลุ่มมาหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทำการวิเคราะห์สถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยรายคู่ (Post-hoc) ด้วยการทดสอบเชิงซ้อนชนิดทูคี (Tukey’s test) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษาพบว่าความแข็งผิวจุลภาคของเรซินซีเมนต์ภายใต้เซอร์โคเนียชนิดเอกซ์ตราทรานส์ลูเซนต์ของทั้ง Variolink® N LC และ RelyX™ U200 มีค่ามากกว่าชนิดทรานส์ลูเซนต์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สรุปผลการศึกษาได้ว่ามอนอลิธิคเซอร์โคเนียที่โปร่งแสงมากขึ้นมีผลให้เรซินซีเมนต์ทั้งสองชนิดที่อยู่ภายใต้มีความแข็งผิวจุลภาคเพิ่มขึ้น

Keywords: ความแข็งผิวจุลภาค; มอนอลิธิคเซอร์โคเนียชนิดโปร่งแสง; เรซินซีเมนต์

Citation format:

สวรรยา เพชรที่วัง, และปรารมภ์ ซาลิมี. (2020). ความแข็งผิวจุลภาคของเรซินซีเมนต์ชนิดบ่มตัวด้วยแสงและชนิดบ่มตัวสองรูปแบบหลังการฉายแสงผ่านมอนอลิธิคเซอร์โคเนียชนิดโปร่งแสงสามชนิด. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

Asst. Prof. Umaporn Vimonkittipong, DDS. (Chairperson)

ขอถามเรื่องสถิติหน่อยคะ เหตุใดจึงใช้การทดสอบสถิติด้วย 1-way ANOVA ในงานวิจัยนี้คะ

พอดีไม่แน่ใจว่าต้องการศึกษาตัวแปรอิสระซึ่งมี 2 เรื่องรึเปล่าคะ คือ  ชนิดซีเมนต์ และชนิดของเซอร์โคเนีย

สวรรยา เพชรที่วัง (Presenter)

เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และสมมติฐานของการศึกษาค่ะ โดยจะเน้นไปที่ตัวแปรต้นคือความโปร่งแสงที่แตกต่างกันของเซอร์โคเนีย อย่างไรก็ตามสามารถใช้ 2-way ANOVA ได้ค่ะหากต้องการดู 2 independent variables ตามที่ท่านเสนอแนะ ซึ่งการศึกษานี้เป็นผลเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยหลักของนิสิต ที่มีตัวแปรอิสระมากกว่า 2 กลุ่ม สถิติ 2-way จะนำมาเพิ่มเพื่อวิเคราะห์ตัวแปรมากกว่า 2ชนิดดังกล่าว และดู interaction ระหว่างกลุ่มค่ะ

Prof., Clinic Issarawan Boonsiri (Chairperson)

Prof., Clinic Issarawan Boonsiri
STATUS: Chairperson

ชิ้นตัวอย่างสี่เหลี่ยมขนาด 10×10×1 มิลลิเมตร

เพิ่มชื่อเรื่องเป็น

Microhardness of Light-Cure and Dual-Cure Resin Cements after Light Transmission through Three Types of Veeneer porcelain Translucent Monolithic Zirconia

ความแข็งผิวจุลภาคของเรซินซีเมนต์ชนิดบ่มตัวด้วยแสงและชนิดบ่มตัวสองรูปแบบหลังการฉายแสงผ่านวีเนียร์พอร์ซเลนชนิดมอนอลิธิคเซอร์โคเนียชนิดโปร่งแสงสามชนิด

ชัดเจนขึ้นค่ะ

Spun Lenglerdphol (Visitor)

รบกวนอธิบายการฉายแสงผ่าน glass slide ที่เป็นกลุ่มควบคุมเพิ่มให้อีกซักนิดได้มั้ยคะ ไม่แน่ใจว่า เป็นการฉายแสงผ่านแผ่น glass slide โดยตรงเลย โดยไม่มีแผ่นของชิ้นงาน Zirconia วางกั้นเลยใช่หรือไม่คะ??

ถ้าใช่ ระยะการฉายแสงในกลุ่มควบคุมนี้ก็จะน้อยกว่ากลุ่มที่มีการฉายแสงผ่านชิ้น Zirconia ที่มีความหนา 1 มม ทำให้ระยะการฉายแสงตรงนี้ไม่ได้ควบคุม ไม่ทราบว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับระยะห่างของการฉายแสงกับ rate of polymerization ที่จะส่งผลต่อการวัด  hardness ของวัสดุคะ?

ขอบคุณค่ะ

สวรรยา เพชรที่วัง (Presenter)

ขอขอบพระคุณ ข้อแนะนำของ PROF., CLINIC ISSARAWAN BOONSIRI นะคะ

 

สวรรยา เพชรที่วัง (Presenter)

ขอตอบคำถาม SPUN LENGLERDPHOL ค่ะ การศึกษานี้ใช้ glass slide ที่มีความหนา 1 มิลลิเมตร เท่ากับความหนาของกลุ่มทดลองที่ใช้เซอร์โคเนียค่ะ ซึ่งมีความคิดเห็นเช่นเดียวกันค่ะว่าเป็นปัจจัยที่ต้องควบคุม โดยระยะห่างในการฉายแสงที่ต่างกันอาจส่งผลต่อการเกิดพอลิเมอร์ไรเซชันที่ต่างกันได้ ทั้งนี้ทำการควบคุมแล้วด้วยการวัดความหนาของชิ้นงานทุกกลุ่มด้วยเครื่องมือวัดเวอร์เนียดิจิตอลค่ะ