RSUSSH 2020

NA20-059 บทบาทของประเพณีบุญเดือนสามในชุมชนไทกะเลิงบ้านม่วง จังหวัดนครพนม

นำเสนอโดย: ศิรชัช ดาบุตร
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ไทย

Abstract

                บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาบทบาทของประเพณีบุญเดือนสามที่มีต่อชุมชนไทกะเลิงบ้านม่วง ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน พ.ศ.2562 โดยใช้ทั้งจากเอกสารและเก็บข้อมูลจากภาคสนามโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบพิธีและผู้เข้าร่วมพิธี พร้อมสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนพิธี แล้วนำเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์  ผลการศึกษาพบว่าประเพณีบุญเดือนสาม มีบทบาทต่อคนในชุมชนบ้านม่วง 2 บทบาท ได้แก่ (1) บทบาทต่อชุมชน แบ่งเป็น 5 บทบาทย่อย ได้แก่ บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่สมาชิกในครอบครัว บทบาทในการสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน บทบาทในการรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ บทบาทในการควบคุมสังคม และบทบาทในการให้ความบันเทิง และ (2) บทบาทต่อปัจเจกบุคคล แบ่งเป็น 2 บทบาทย่อย ได้แก่ บทบาทในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวบ้าน และบทบาทในการให้ความหวังเรื่องความอุดมสมบูรณ์  การศึกษาตามจุดมุ่งหมายนอกจากช่วยให้ทราบถึงบทบาทของประเพณีบุญเดือนสามที่มีต่อชาวชุมชนไทกะเลิงบ้านม่วง ยังพบว่าประเพณีบุญเดือนสามหรือ ประเพณีสู่ขวัญข้าวของชุมชนแห่งนี้ ยังคงทำหน้าที่เสมือนจารีตประเพณีให้ชาวชุมชนต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคลในชีวิต และสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเรื่อยมา

Keywords: ประเพณีบุญเดือนสาม; บทบาทของประเพณี; ชาวไทกะเลิงบ้านม่วง; จังหวัดนครพนม

Citation format:

สารภี ขาวดี, และศิรชัช ดาบุตร. (2020). บทบาทของประเพณีบุญเดือนสามในชุมชนไทกะเลิงบ้านม่วง จังหวัดนครพนม. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

rapeephan petchanankul (Visitor)

อยากทราบว่ามีความเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากอดีตบ้างหรือไม่

อยากทราบว่าสิ่งที่คงอยู่อย่างมั่นคืออะไร และมีอะไรที่แปรประยุกต์บ้าง

ศิรชัช ดาบุตร (Presenter)

        ประเพณีบุญเดือนสามของไทกะเลิงบ้านม่วง ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ถึงแม้จะตั้งชื่อว่าประเพณีบุญเดือนสาม แต่มีกิจกรรมย่อยสำคัญ 7 กิจกรรม ได้แก่ (1) วันเตรียมงาน (2) พิธีสู่ขวัญข้าว สู่ข้าวเล้าข้าว และอุปกรณ์ในการทำนา (3) ทำบุญตักบาตร (4) บุญกองข้าว (5) ขบวนแห่ปัจจัยเข้าวัด (6) พิธีสู่ขวัญชาวบ้านและสู่ขวัญหมู่บ้าน (7) กินพาแลงร่วมกัน ความสำคัญและสิ่งที่ทำให้งานบุญเดือนสามของชุมชนแห่งนี้น่าสนใจคือ ชาวชุมชนยังคงรักษาแบบแผนพิธี อาทิ วันเวลาในการจัดพิธีกรรม  เครื่องประกอบและขั้นตอนพิธีกรรม  ภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในพิธีกรรม (ภาษากะเลิง) และกิจกรรมที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคี และความเป็นหนึ่งเดียวของชาวชุมชนไว้อย่างเคร่งครัด เช่น การกินพาแลงร่วมกัน การแต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์ในวันงาน ที่สำคัญคือ ทุกขั้นตอนพิธีตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด คนรุ่นเก่ายังคงมุ่งมั่นที่จะสืบทอดประเพณีและวิถีวัฒนธรรมอันดีงามนี้แก่ชนรุ่นหลังทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ประเพณีบุญเดือนสามหรือประเพณีสู่ขวัญข้าวนี้ได้ดำรงอยู่คู่ชุมชนตลอดไปการที่ประเพณีบุญเดือนสามยังคงดำรงอยู่คู่ชุมชนชาวไทกะเลิงบ้านม่วงจวบจนปัจจุบัน ผู้วิจัยมองว่าน่าจะเป็นเพราะประเพณีนี้ยังคงมีบทบาทหน้าที่รับใช้ชาวชุมชนอยู่

        ประเพณีบุญเดือนสามในชุมชนไทกะเลิงบ้านม่วง ยังคงดำรงอยู่ในชุมชนอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากคนในชุมชนยังคงรักแบบแผนของประเพณีเอาไว้อย่างเคร่งครัด แต่มีการปรับเปลี่ยนบ้างในบางเรื่อง เช่น ขบวนแห่เดิมเคยใช้เป็นกลองตุ้มในการแห่ แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกลองยาว และในเรื่องของอาหารชาวบ้านมีการจัดเตรียมอาหารทั้งในรูปแบบดั้งเดิม และมีอาหารที่เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาวบ้านยังคงรักษาแบบแผนของประเพณีไว้อย่างเคร่งครัดจึงยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของประเพณีบุญเดือนสามจากเดิมมากนัก

rapeephan petchanankul (Visitor)

คำตอบอยู่ที่ย่อหน้าสุดท้ายนี่เอง

ขอบคุณมากค่ะ ชื่นชมการนำเสนอที่น่าสนใจ นะคะ

 

 

ศิรชัช ดาบุตร (Presenter)

ขอบคุณมากค่ะ