RSUSSH 2020

NA20-127 แนวทางการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหาร กรณีศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

นำเสนอโดย: นางสาวพรรษรัตน์ เจริญรัตน์
มหาวิทยาลัยนเรศวร, ไทย

Abstract

     การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหาร เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก สอบถามความคิดเห็นนักท่องเที่ยวจำนวน 12 คน ในการประมวลผลข้อมูลเชิงคุณภาพภายหลังจากการสัมภาษณ์แล้วใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและการวิเคราะห์คำหลัก ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารควรพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย  และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ผลการศึกษาเป็นประโยชน์ต่อแหล่งท่องเที่ยวในการพัฒนาแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพต่อไป

Keywords: แหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหาร; การตลาดการท่องเที่ยว; การพัฒนาการตลาด

Citation format:

พรรษรัตน์ เจริญรัตน์, และศิริเพ็ญ ดาบเพชร. (2020). แนวทางการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหาร กรณีศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

Asst. Prof. Dr. Rujapa Paengkesorn (Chairperson)

ขอสอบถามค่ะ

-จากผลการวิจัยที่ผู้วิจัยได้รับเกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว ควรทำอย่างไร

- การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้วิจัยคิดว่าควรเป็นกลุ่มใดเป็นหลัก

ขอบคุณค่ะ

นางสาวพรรษรัตน์ เจริญรัตน์ (Presenter)

-ควรนำจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารมาสร้างภาพลักษณ์ค่ะ ได้แก่ ด้านความเป็นพื้นที่ทหาร มรดกทางทหารและกิจกรรมนันทนาการและผจญภัย โดยทั้ง3ด้านนี้ แหล่งท่องเที่ยวทหารมีความโดดเด่นและแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น เช่น ด้านพื้นที่มีความเป็นทหารอย่างชัดเจน ได้แก่ สถาปัตยกรรม อาคารได้เห็นภายในค่าย มรดกทางทหารคือได้สัมผัส ได้เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร ตลอดจนสัมผัสบรรยากาศ เห็นวิถีชีวิตของทหารที่แท้จริง ในส่วนกิจกรรมนันทนาการและผจญภัยมีความชัดเจนในความเป็นทหารอย่างยิ่งคือ ทุกกิจกรรมได้เป็นการใช้ฝึกทหารของจริง เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเป็นทหารที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของความเป็นทหารในการถ่ายทอดต่อกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนผลลัพท์ที่ได้จากกิจกรรมคือความมีระเบียบวินัย สามัคคี กล้าหาญ และอดทน ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของทหารที่แท้จริง ดังนั้นถ้านำจุดแข็งดังกล่าวไปสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ต่อนักท่องเที่ยวจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารเป็นที่รู้จักและนาสนใจมากขึ้นค่ะ

- กลุ่มเป้าหมายหลักคิดว่าควรเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำกิจกรรมนันทนาการและผจญภัยค่ะ เช่น องค์กร บริษัท และนักเรียน โดยต้องการสร้างความสามัคคี ความสัมพันธ์อันดีภายในองค์กร ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารตอบโจทย์ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกิจกรรมต่างๆมีกฏระเบียบให้ปฎิบัติตามและสร้างขึ้นรวมทั้งถ่ายทอดมาจากคนที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัย กล้าหาญ อดทน ดังนั้นผลลัพท์ที่ได้นอกจากสนุกสนานแล้วยังได้รับระเบียบวินัยด้วย ซึ่งเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวค่ะ

PAKARAT JUMPANOI (Visitor)

สอบถามความรู้นะคะว่าเหตุที่ผู้วิจัยสนใจเรื่องการพัฒนาการตลาดท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวทหารมาจากเหตุใดค่ะ หมายถึงว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารเป็นอย่างไรค่ะ

นางสาวพรรษรัตน์ เจริญรัตน์ (Presenter)

-ที่สนใจการพัฒนาการตลาดแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารเนื่องจากปัจจุบันเห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวนี้น่าสนใจและมีกิจกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนมีความโดดเด่นด้านความเป็นทหารที่สามารถนำเสอนแกนักท่องเที่ยวได้แต่ยังไม่ได้รับความนิยมและเห็นว่ามีปัญหาด้านการตลาดที่ไม่ชัดเจนค่ะจึงอยากพัฒนาด้านการตลาด

-อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นนะคะว่าแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ทหารมีความโดดเด่นด้านความเป็นพื้นที่ทหารดังนั้นทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในแหล่งท่องเที่ยวจึงเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของความเป็นทหารอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมนันทนาการ ละลายพฤติกรรม ผจญภัย ก็ดัดแปลงมาจากการฝึกทหารของจริง เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการทุกคนเป็นทหารอาชีพที่ความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานของตน และมีกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด ตลอดจนวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่อยู่ในกฏระเบียบ ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จากการมาเที่ยวที่นี่นอกจากได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ตื่นเต้นท้าทาย ความสนุกสนาน ที่สำคัญได้ระเบียบวินัย ฝึกความอดทน สร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรค่ะ