RSUSSH 2020

NA20-054 พรรคประชาชาติในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

นำเสนอโดย: สุรชัย โตเรืองศรี
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

     การศึกษาค้นคว้าอิสระเรื่อง พรรคประชาชาติในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพรรคประชาชาติในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 และเพื่อศึกษาปัจจัยของพรรคประชาชาติที่มีผลต่อการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีวิจัยเอกสาร ผลการศึกษาพบว่า พรรคประชาชาติมีอุดมการณ์ที่จะเป็นพรรคของคนไทยทั้งประเทศ ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา ไม่เฉพาะชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แนวคิดพหุวัฒนธรรม ภายใต้การนำของวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคพรรคมีนโยบายที่โดดเด่นและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การก่อตั้งพรรคประชาชาติขึ้นมานั้นมีปัจจัยทางบริบททางการเมืองมาเกี่ยวข้อง แม้พรรคประชาชาติจะประกาศย้ำถึงอุดมการณ์ที่จะเป็นพรรคของคนไทยทั้งประเทศ จะเป็นพรรคระดับชาติ แต่จากผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พรรคประชาชาติได้ประกาศไว้ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งกลับชี้ให้เห็นว่าพรรคประชาชาตินั้นเป็นเพียงพรรคท้องถิ่น เป็นพรรคของชาวมุสลิมเป็นพรรคของคนสามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ในประเด็นต่อมา จากการศึกษาพรรคประชาชาติในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พบว่าปัจจัยของพรรคประชาชาติที่มีผลต่อการเลือกตั้งของวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้นมี 5 ปัจจัยได้แก่ 1. ด้านผู้นำพรรคการเมือง 2. ด้านนโยบายของพรรค 3. ด้านพรรคการเมือง 4. ด้านสมาชิกพรรค 5. ด้านการส่งผู้สมัครของพรรค

Keywords: พรรคการเมือง; พรรคประชาชาติ; การเลือกตั้ง

Citation format:

สุรชัย โตเรืองศรี, และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2020). พรรคประชาชาติในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

บงกชลักษณ์ มากดำ (Participant)

ปัจจัยสำคัญที่สุด จากทั้ง 5 ปัจจัย คือปัจจัยใด ที่ส่งผลต่อการได้รับการเลือกตั้งของพรรค หรือ ทั้ง 5 ปัจจัย สำคัญเท่าๆ กัน

สุรชัย โตเรืองศรี (Presenter)

เรียนคุณ บงกชลักษณ์ มากดำ (PARTICIPANT) จากคำถามข้างต้น ปัจจัย ทั้ง 5 นั้นล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้นต่อผลการเลือกตั้งของพรรคประชาชาติ  แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจัยด้านสมาชิกพรรค ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเลือกของประชาชนก็มีทั้งเรื่อง หัวหน้าพรรคที่เป็นคนในพื้นที่ และยังมีสมาชิกท่านอื่นพรรคที่เป็นอดีต ส.ส.ในพื้นที่อีกหลายคน ซึ่งต่างมีประสบการณ์ทั้งด้านการเมือง และการแก้ปัญหาของประเทศชาติ และปัญหาเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาชาติ มีอัตลักษณ์ร่วมกันคือเชื้อสายมลายูมุสลิม และเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในพรรคขนาดเล็กอย่างประชาชาติ ที่ชูความเป็นพหุวัฒนธรรมในระดับชาติ และสะท้อนความภูมิใจในอัตลักษณ์มลายูมุสลิม และการมีภูมิหลังเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นฐานการเมืองที่สำคัญ เพราะทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้านทำให้สามารถเข้าถึงและได้ใจชาวบ้านได้มากกว่านักการเมืองถิ่นคนอื่น ๆ เป็นกลยุทธ์ในการได้มาซึ่งคะแนนเสียงและเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง