RSUSSH 2020

NA20-032 การวัดเปรียบเทียบปริมาณรังสีกระเจิงกลับจากวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะผสมจากการใช้รังสีรักษาด้วยเครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคเชิงเส้น (ลิแนค) ในห้องปฏิบัติการ

นำเสนอโดย: ธัญสินี คูณาภินันท์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย

Abstract

     การฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปากและใบหน้าในผู้ป่วยที่มีวัสดุทางทันตกรรมที่เป็นโลหะผสมจะทำให้เกิดการสะท้อนกลับของรังสี ส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องปากหรือกระดูกที่ติดกับวัสดุเหล่านี้ได้รับปริมาณรังสี ก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาคือภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบและเพิ่มโอกาสการเกิดกระดูกตาย งานวิจัยนี้จึงทำเพื่อศึกษาและสำรวจปริมาณรังสีกระเจิงกลับของวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะผสม 4 ชนิด ได้แก่ โลหะผสมทองชนิดที่ 4, แพลลาเดียมอัลลอย, ไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีการกลึง และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึก ซึ่งฉายด้วยรังสีที่มีขนาดและชนิดเดียวกับรังสีที่ใช้รักษามะเร็งศีรษะและลำคอ โดยนำชิ้นงานขนาด 8x13x1 มม.3 จำนวน 5 ชิ้นต่อกลุ่ม แต่ละชิ้นถูกวางใต้แผ่นวัดรังสีโอเอสแอลและฉายด้วยเครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคเชิงเส้น(ลิแนค)ที่ปล่อยรังสีโฟตอนขนาด 200 cGy และให้พลังงานรังสี 6 MV วัดปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่ระยะประชิดผิวชิ้นงาน(0 มม.)จากแผ่นวัดรังสีโอเอสแอล และทำการคำนวณเปรียบเทียบร้อยละของปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้นจากวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะผสมทั้ง 4 ชนิดโดยใช้การเปรียบเทียบทางสถิติชนิดวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และใช้ Post Hoc Test คือ Bonferroni ผลการศึกษาพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของปริมาณรังสีกระเจิงกลับและร้อยละของปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มโลหะผสมทอง และแพลลาเดียมอัลลอย เทียบกับไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีการกลึง และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึก อย่างไรก็ตามปริมาณรังสีกระเจิงกลับและร้อยละของปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีการกลึง และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึกนั้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อสรุปจากงานวิจัยนี้พบว่าโลหะผสมทองมีปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือ แพลลาเดียมอัลลอย, ไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีการกลึง และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึกมีปริมาณรังสีกระเจิงกลับน้อยที่สุด

Keywords: รังสีกระเจิงกลับ; วัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะผสม; เครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคเชิงเส้น(ลิแนค)

Citation format:

ธัญสินี คูณาภินันท์, ประเวศ เสรีเชษฐพงษ์, สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสง, และสรนีย์ เศรษฐภักดี. (2020). การวัดเปรียบเทียบปริมาณรังสีกระเจิงกลับจากวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะผสมจากการใช้รังสีรักษาด้วยเครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคเชิงเส้น (ลิแนค) ในห้องปฏิบัติการ. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

Piyanuch Karnasuta, DDS (Chairperson)

คำุถาม

1. เนื่องจาก ข้อจำกัดของการศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้ titanium alloy ที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างจากวัสดุที่ใช้จริง ดังนั้นผลของการศึกษาที่ได้สามารถที่่จะใช้อธิบาย ในเรื่องความปลอดภัยได้ อย่างถูกต้องได้จริงหรือไม่ อย่างไรคะ

2. จากการศึกษานี้วัสดุทางทันตกรรม ที่ทำจาก titanium laser sintering มีรังสีกระเจิงกลับน้อยที่สุด ซึ่งส่งผลต่อเนื้อเยื่อโดยรอบ น้อยกว่าชนิดอื่น  ดังนั้นช่วยยกตัวอย่าง ชนิดของรากเทียมที่ใช้ในประเทศไทยที่ทำจาก titanium alloy ชนิด laser sintering  เพื่อ เป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้รากเทียมสำหรับผู้ป่วยด้วยค่ะ

ธัญสินี คูณาภินันท์ (Presenter)

ขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ และขออนุญาตตอบคำถามอาจารย์ PIYANUCH KARNASUTA ดังนี้ค่ะ

1. เนื่องจากขนาดและรูปร่างของวัสดุ titanium alloy ในการทดลองมีความแตกต่างจากวัสดุจริง โดยในงานวิจัยนี้จะใช้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมระนาบแบนซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่ได้ในงานวิจัยนี้มีค่ามากกว่าการทดลองที่ใช้รากเทียมที่เป็นทรงกระบอกอยู่ประมาณ 65-69% ก็จริง (ตามงานวิจัยของ Wang และคณะในปี 1996 และ 1998) อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ได้เน้นไปที่การทำให้เกิดปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่จะให้ได้ค่ามากที่สุดอย่างสมบูรณ์ที่ตำแหน่งผิวของชิ้นงานสัมผัสแนบไปกับแผ่นวัดรังสีในทิศทางที่ตั้งฉากกันอย่างแนบสนิท เพื่อเป็นการทำให้การรับสัญญาณของแผ่นวัดรังสีเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ที่สุด (magnify สัญญาณ) และวัดปริมาณรังสีได้ค่ามากที่สุด ถึงแม้ว่าการทดลองในงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ทำในห้องปฏิบัติการโดยยิงรังสีในทิศทางเดียวและใช้รากเทียมทรงกระบอกนั้นจะพบว่าได้ค่าปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่น้อยกว่าชิ้นงานที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมระนาบแบน แต่ในความเป็นจริงแล้วการฉายรังสีในคนไข้จริงนั้นจะใช้วิธียิงรังสีแบบ bilateral beam รอบๆมะเร็งที่มีรากเทียมอยู่ ซึ่งรังสีกระเจิงนั้นจะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งผิวของรากเทียมที่ตั้งฉากกับแนวลำรังสีโดยตลอด ทำให้สุดท้ายแล้วจะเกิดปริมาณรังสีกระเจิงกลับรอบๆรากเทียมตลอดพื้นที่ผิวของรากเทียม ดังนั้นผลของรังสีกระเจิงกลับในสถานการณ์จริงที่ใช้รากเทียมทรงกระบอกและใช้ bilateral beam จะทำให้ได้ค่าปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่เท่าๆกันกับการทดลองในงานวิจัยนี้ที่ใช้แผ่นวัสดุเป็นสี่เหลี่ยมระนาบแบน งานวิจัยนี้จึงสะท้อนค่ารังสีที่แท้จริงเทียบเท่าในสถานการณ์ความเป็นจริงในคนไข้

 

2. Titanium alloy ชนิด laser sintering ปัจจุบันยังไม่มีการนำมาทำเป็นตัว fixture ของรากเทียม แต่มีการนำมาทำเป็นครอบฟันบนรากเทียมได้ อีกทั้งในงาน Maxillofacial นั้นก็ยังสามารถนำวัสดุนี้มาทำเป็น titanium plates ที่ใช้ในบริเวณขากรรไกร หรือทำเป็น titanium mesh ที่บริเวณ cranium หรือ mandible ก็ได้โดยใช้หลักการร่วมกันของ CT scan ซึ่งมีการออกแบบชิ้นงาน titanium alloy ที่เป็นลักษณะ customized กับรอยโรคของแต่ละบุคคลได้ และใช้หลักการของ laser sintering ในการสร้างชิ้นงานออกมาให้มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงกับรอยโรคของแต่ละบุคคล