RSUSSH 2020
NA20-020 โครงการการออกแบบกราฟิกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในโรงพยาบาล
นำเสนอโดย: ธนกฤต วนะสุข
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย
Abstract
โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเป็นสถานที่ให้บริการและเยียวยาปัญหาด้านสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า นอกจากการบริการด้านการรักษาที่สามารถเยียวยาผู้ป่วยแล้ว การออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อม (Environmental Graphic) ที่ดีในสถานพยาบาลยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยรวมถึงระบบป้ายและสื่อต่าง ๆ ที่สามารถสื่อสารได้ชัดเจน การจัดผังอาคารที่สอดคล้องต่อการใช้งาน ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ที่เข้ามารับบริการ ผู้ออกแบบได้ทำการเลือกสถานพยาบาลในมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถานที่ต้นแบบ และทำการรวบรวมข้อมูลโดยการลงพื้นที่สังเกตพฤติกรรมการใช้งานสถานที่ รวมถึงการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ภายในสถานพยาบาลถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้รับบริการมักมีความสับสนในเส้นทางการเดิน เนื่องจากการจัดพื้นที่ภายในอาคารค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงระบบป้ายที่สังเกตได้ลำบาก จากปัญหาดังกล่าว ผู้ออกแบบจึงทำการออกแบบพื้นที่ใช้สอยขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งาน และออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมรวมทั้งระบบป้ายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอย จากนั้นนำแนวทางต้นแบบที่ได้จากการออกแบบเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบ และนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตที่เคยใช้บริการสถานพยาบาลดังกล่าว ผลปรากฏว่าผลงานออกแบบสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ระบบป้ายสามารถสื่อสารได้ชัดเจน และสอดคล้องกับเส้นทางการเดินของผู้ใช้บริการ รวมทั้งให้ความรู้สึกเป็นมิตรและผ่อนคลายสำหรับผู้ใช้งานสถานพยาบาล
Citation format:
ธนกฤต วนะสุข, สุวิทย์ รัตนานันท์, และธีรนพ หวังศิลปคุณ. (2020). โครงการการออกแบบกราฟิกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในโรงพยาบาล. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
เรียนถามถึง ความสับสนของผู้ที่มาใช้บริการ หลังจากได้ออกแบบแล้ว ได้นำผลงานที่ออกแบบให้ผู้เข้าใช้บริการดูอีกรอบหรือไม่ครับ
เรียนท่านกรรมการ ตามแผนงานเดิมจะมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ผลประเมินจากผู้ใช้บริการ(ผู้ป่วย) อีกรอบ แต่เนื่องจากสถานการณ์ covid-19 ทำให้เกิดอุปสรรคในขั้นตอนดังกล่าว จึงไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงได้ ดังนั้นผมจึงทำการส่งโครงการออกแบบนี้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย(ผู้ใช้บริการที่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต) จำนวนหนึ่งผ่านช่องทางออนไลน์ แต่จำนวนผลลัพธ์ที่ได้นั้นนั้นค่อนข้างน้อย จึงขออภัยที่ไม่ได้ทำการใส่ข้อมูลลงไปในบทความ
ซึ่งผลลัพธ์จากความเห็นของกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15 คน พบว่าทั้ง 15 คนเห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงที่ได้เสนอไปตามในโครงการนี้
และนอกจากนี้โครงการการออกแบบฉบับนี้ยังได้ผ่านการพิจารณาและลงความเห็นจากคณะอาจารย์ภายในวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน
จากปัญหาด้านความสับสน เนื่องจากเดิมมี 2 เคาน์เตอร์จาก 2 หน่วยงานในพื้นที่เดียวกัน ผู้ใช้บริการจึงมักเกิดความสับสน ผู้ออกแบบจึงทำการปรับปรุงจัดพื้นที่การใช้งานใหม่โดยการรวมเคาน์เตอร์เข้าด้วยกันเป็นเคาน์เตอร์เดียวเพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้น ซึ่งตัวผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทราบว่าตนเองนั้นต้องมาติดต่อหน่วยงานใด แผนกเคาน์เตอร์ต้อนรับจะเป็นผุ้รับผิดชอบทำการคัดกรองให้ผู้ป่วยเอง รวมถึงป้ายที่เป็นเลขระบุหน้าห้องตรวจนั้นมีขนาดใหญ่และชัดเจนขึ้น ทำให้เข้าใจและมองเห็นได้ง่ายกว่าป้ายชุดเดิมที่มีขนาดเล็กและใช้การเขียนระบุชื่อห้อง เช่น ห้องอายุรกรรม ห้องปรึกษาทางจิต เป็นต้น
ขอบคุณครับ
นายธนกฤต วนะสุข