RSUSSH 2020

NA20-029 การประกอบสร้างความหมายการถวิลหาอดีตในภาพยนตร์ไทย

นำเสนอโดย: วงศกร วงเวียน
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย

Abstract

     การศึกษาวิจัยเรื่อง การประกอบสร้างความหมายการถวิลหาอดีตในภาพยนตร์ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ          1 .ศึกษามิติด้านเนื้อหาของภาพยนตร์ไทยที่สะท้อนการถวิลหาอดีต และ2. เพื่อให้เข้าใจถึงการประกอบสร้างความหมายที่สื่อถึงการถวิลหาอดีตในภาพยนตร์ไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยทำการวิเคราะห์ตัวบท ภาพยนตร์ไทย 3 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” ภาพยนตร์เรื่อง “สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก” และภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนสนิท” ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นตัวแทนการถวิลหาอดีตในแต่ละช่วงวัย คือ วัยประถมศึกษา วัยมัธยมศึกษา และวัยมหาวิทยาลัย โดยใช้แนวคิดและทฤษฎีมาประกอบการวิเคราะห์ดังต่อไปนี้ แนวคิดหลังสมัยใหม่ แนวคิดเกี่ยวกับการโหยหาอดีต แนวทางการศึกษาเชิงสัญญะวิทยา และแนวคิดภาษาภาพเชิงเทคนิค

     ผลวิจัยพบว่า 1) มิติเนื้อหาที่สะท้อนการถวิลหาอดีตมี 5 ลักษณะ คือ 1. การถ่ายทอดความทรงจำในอดีต      2. การถ่ายทอดประสบการณ์ในอดีต 3. การถ่ายทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมและประเพณีประจำท้องถิ่น 4. การเปลี่ยนผ่านของเวลา และ 5.ภาพชุมชนในอดีต 2). วิธีการประกอบสร้างการถวิลหาอดีตมี 9 ประการคือ 1. สถานที่และอุปกรณ์ประกอบฉากที่สื่อถึงความย้อนยุค 2. เครื่องแต่งกายย้อนยุค 3.การสื่อความหมายแบบคู่ตรงข้าม 4. การใช้อนุนามนัย   5. การใช้แสงในเชิงสัญลักษณ์ 6. การใช้สีในเชิงสัญลักษณ์ 7. การใช้ระยะภาพในเชิงสัญลักษณ์ 8. การสร้างสัมพันธบทกับภาพยนตร์และบทเพลงในอดีต และ 9. การใช้เทคนิคการตัดต่อเพื่อสื่อความหมายในการเล่าความย้อนอดีต

Keywords: การประกอบสร้าง; การถวิลหาอดีต; ภาพยนตร์ไทย

Citation format:

วงศกร วงเวียน. (2020). การประกอบสร้างความหมายการถวิลหาอดีตในภาพยนตร์ไทย. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.

QUESTIONS & ANSWERS

นวรัตน์ โพธิ์เขียว (Participant)

การเลือกภาพยนตร์ไทย ทั้ง 3 เรื่อง มีแนวทางการเลือกไหมคะ เพราะเห็นว่าทั้งสามเรื่องมีการเล่าเรื่องราวในต่างจังหวัดทั้งสามเรื่องเลยค่ะ 

Sataporn (Visitor)

ขอถามดังนี้

1.แนวคิดในการเลือกภาพยนตร์เป็นตัวแทนในการถวิลหาอดีตโดยแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย เป็นอย่างไร

2.ซึ่งจากข้อ 1 ได้กล่าวไว้ว่าจะได้ภาพของการถวิลหาอดีตที่ชัดเจนที่สุด เป็นภาพในความเหมือนหรือความต่างของแต่ละช่วงวัยอย่างไร

ขอบคุณครับ

วงศกร วงเวียน (Presenter)

Q : การเลือกภาพยนตร์ไทย ทั้ง 3 เรื่อง มีแนวทางการเลือกไหมคะ เพราะเห็นว่าทั้งสามเรื่องมีการเล่าเรื่องราวในต่างจังหวัดทั้งสามเรื่องเลยค่ะ ?

A : ภาพยนตร์ไทยทั้ง 3 เรื่อง ทางผู้วิจัยได้มีข้อกำหนดว่า ภาพยนตร์ที่นำมาวิเคราะห์ต้องเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาสะท้อนการถวิลหาอดีตในช่วงปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2558 ที่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจาก มีผลงานภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการถวิลหาอดีตออกมามากมายและยังใกล้เคียงกับช่วงเวลากับปัจจุบันที่สุด

      ผู้วิจัยได้จัดกลุ่มการถวิลหาอดีตให้เป็นช่วงวัยที่สามารถสะท้อนความรู้สึกถวิลหาช่วงเวลาในอดีตของผู้รับชมที่สามารถรู้สึกและเห็นภาพได้ง่ายที่สุดคือ  คือ วัยประถมศึกษา วัยมัธยมศึกษา และวัยมหาวิทยาลัย และเมื่อทำการคัดเลือกออกมาแล้ว จึงเหลือภาพยนตร์ ทั้ง 3 เรื่องนี้ครับ 

      ส่วนสาเหตุที่ทั้ง 3 เรื่องนี้ มีการเล่าเรื่องราวของต่างจังหวัด นั่นเป็นเพราะ การดำเนินเรื่องราวในต่างจังหวัดทำให้เห็นภาพของบริบทของชุมชนในอดีต ที่มีความเรียบง่าย ดูไม่วุ่นวาย และสามารถสื่อถึงการถวิลอดีตได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

Q : แนวคิดในการเลือกภาพยนตร์เป็นตัวแทนในการถวิลหาอดีตโดยแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย เป็นอย่างไร ?

A : การถวิลหาอดีต เข้าใจง่ายๆคือ เป็นการให้ความหมายถึงการมองไปยังประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วของเรา และเมื่อใดก็ตามที่เราได้พบเจอ หรือได้สัมผัสถึงเรื่องราว ประสบการณ์ต่างๆ ที่ทำให้หวนรำลึกถึงวันวานที่ผ่านพ้นไปแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกโหยหา หรือ ถวิลหาอดีตขึ้นครับ และช่วงเวลาในวัยเรียน เป็นช่วงเวลาที่ถือว่ายาวนานมากในชีวิตของเรา เราเรียนชั้นประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษา 6 ปี และมหาวิทยาลัยอีก 4-6 ปี รวมๆแล้ว เป็นเวาที่ยาวนานถึง 18 ปี ดังนั้นประสบการณ์ต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นที่จดจำและฝังลึกลงในจิตใจของเราครับ เช่น เราเคารพครูภาษาอังกฤษว่า "Good morning teacher."  ก็จะรู้โดยอัตโนมัติว่าต้องมี "I'm fine thank you, and you?" และ "Sit down."  หรือ คำที่ครูบอกว่าจะไปประชุมแล้วให้หัวหน้าห้องจดชื่อ นักเรียนที่คุยกัน แค่นี้ก็ทำให้นึกถึงเรื่องราวในวัยเรียนแล้วครับ 

Q :  จากข้อ 1 ได้กล่าวไว้ว่าจะได้ภาพของการถวิลหาอดีตที่ชัดเจนที่สุด เป็นภาพในความเหมือนหรือความต่างของแต่ละช่วงวัยอย่างไร ?

A : วัยประถมศึกษา วัยมัธยมศึกษา และวัยมหาวิทยาลัย ความเหมือนของ มิติเนื้อหาที่ปรากฏในภาพยนตร์ คือ ประสบการณ์ในอดีต คือ

      1. ประสบการณ์จากกิจวัตรประจำวัน คือ การถ่ายทอดประสบการณ์จากกิจวัตรประจำวันในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย เหมือนกัน การเรียน การส่งงาน การสอบ กิจกรรมต่างๆของโรงเรียน เป็นต้น

      2. ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งได้ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัย ดังเช่นภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน มีการปรากฏขึ้นของประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในเรื่อง คือการเป็น เหา และการล้อชื่อ พ่อ-แม่ ภาพยนตร์เรื่องสิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก ได้ปรากฏในเรื่องการถูกลงโทษของครูผู้สอน และครูฝ่ายปกครอง ส่วนภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิท มีการถ่ายทอดเรื่องราวของความคึกคะนองในวัยมหาวิทยาลัย ที่มีการเข้าไปขโมยไข่ไก่จากคณะเกษตร แต่กลับถูกจับได้จนต้องรีบหนีออกมา 

      3.  ประสบการณ์เรื่องความรัก ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่อง มีการถ่ายทอด ประสบการณ์เรื่องความรักเหมือนกัน คือ "ความรักในกลุ่มเพื่อน" ส่วน ความรักระหว่างชาย-หญิง นั้นมีความแต่แตกต่างกันที่เรื่องราวและมุมมองของความรักที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงวัย โดยภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน เป็นเพียงเรื่องราวของการหวนคำนึงถึงเรื่องราวในอดีตของตัวเองกับผู้หญิงที่เป็นเพื่อนสนิทในวัยเด็ก ภาพยนตร์เรื่องสิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของความรักผ่านมุมมองของวัยรุ่นที่มีต่อความรักว่าความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม ส่วนในภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิท ได้มีการถ่ายทอดความรักในรูปแบบของการแอบรักเพื่อนแต่ไม่มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง