RSUSSH 2020
NA20-014 การสร้างสื่อโมชั่นสถาปัตยกรรม 3 มิติ วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นำเสนอโดย: พินิจ อยู่วงษ์ตระกูล
มหาวิทยาลัยรังสิต, ไทย
Abstract
โครงการออกแบบสร้างสื่อโมชั่นสถาปัตยกรรม 3 มิติ เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สมบูรณ์เหมือนในอดีต เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันนั้นวัดพระศรีสรรเพชญ์ เหลือแต่เพียงร่องรอยซากปรักหักพัง ไม่มีสภาพภาพวัดที่สมบูรณ์ชัดเจน จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นมาให้สมบูรณ์แบบ และให้มีลักษณะความสมจริง ให้เห็นถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ช่วยให้เกิดความน่าสนใจ อีกทั้งยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และถ่ายทอดให้กับนักท่องเที่ยวและเยาวชนได้ศึกษาและรู้สึกภูมิใจในโบราณสถานของไทย โดยผู้จัดทำได้ศึกษาจากหนังสือ เอกสารต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีสรรเพชญ์ และการสำรวจสถานที่จริง มาพัฒนาให้เกิดเป็นสื่อโมชั่นสถาปัตยกรรม 3 มิติ ในการประเมินแอนิเมชันนี้ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวและเยาวชน จำนวน 45 คน ได้รับชมประเมินโดยทำแบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่าภาพรวมสื่อมีความน่าพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก
Citation format:
พินิจ อยู่วงษ์ตระกูล, พิศประไพ สาระศาลิน, โกวิท รพีพิศาล, และชัยพร พานิชรุทติวงศ์. (2020). การสร้างสื่อโมชั่นสถาปัตยกรรม 3 มิติ วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
สำหรับคลิปวิดีโอผลงาน(ฉบับเต็ม)
https://youtu.be/FNRWB8LxgWc
การนำเสนอน่าสนใจค่ะ เห็นภาพรวมของความเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญได้ชัดเจนระดับหนึ่ง ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในบางประการค่ะเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรม เนื่องจากอาคารต่างๆ ในวัดไม่ได้สรา้งในยุคสมัยเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมจึงแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น พระอุโบสถมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับการสร้างอาคารจตุรมุขทางด้านหลัง (ทิศตะวันตก) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ให้บรรจุอีกแล้ว เพราะเจดีย์รายที่อยู่รอบวัดก็เต็มหมดแล้ว ส่วนพระที่นั่งจอมทองก็คงสรา้งในสมัยพระนารายณ์มหาราชเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 417 ปี วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ดังนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมจึงไม่ควรจะมีหน้าตาที่เหมือนกันหมดดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ จึงขอเสนอแนะว่า น่าจะมีการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารแต่ละหลังให้ละเอียด ซึ่งก็มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลายท่านได้ทำการสันนิษฐานเอาไว้มากมาย ชัดเจน และค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว อาจนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นค่ะ
ขอขอบพระคุณค่ะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปาริสุทธิ์ เลิศคชาธาร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
กราบขอบพระคุณมากครับผู้ช่วยศาสตราจารย์ปาริสุทธิ์ เลิศคชาธาร
พัฒนางานให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปนะคะ
กราบขอบพระคุณมากครับ