RSUSSH 2020
NA20-003 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร
นำเสนอโดย: ณัฐกฤตา หงษ์เวียงจันทร์
กรุงเทพธนบุรี, ไทย
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของผู้ประกอบการ รูปแบบการฝึกอบรมที่ผู้ประกอบการต้องการ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโดยเก็บข้อมูล จากเอกสารและแบบสอบถามจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจ จำนวน 120 ราย วิเคราะห์ข้อมูลด้วย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยการวิเคราะห์ไคสแควร์ (Chi-square) และการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient analysis)
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการมีความต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านการฝึกอบรม การพัฒนา และการศึกษาในระดับมาก โดยพบว่าผู้ประกอบการมีความต้องการด้านการฝึกอบรมมาก ที่สุดเนื่องจากการฝึกอบรมสามารถทำได้ง่าย ระยะเวลาในการดำเนินการสั้นและค่าใช้จ่ายน้อย รูปแบบการฝึกอบรมที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ หลักสูตรระยะสั้น 1-3 วัน โดยมีการดำเนินการโดย หน่วยงานภายในองค์การ และใช้สถานที่จัดฝึกอบรมภายในองค์การ
ผลการวิจัยด้านปัจจัยที่ มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พบว่าปัจจัยด้านลักษณะทั่วไปของกิจการ ได้แก่ จำนวนผู้บริหาร จำนวนหัวหน้างาน จำนวนผู้ปฏิบัติงาน งบประมาณ มีความสัมพันธ์กับความต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับนัยสำคัญ 0.05 แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับด้านการศึกษาและการพัฒนา ส่วนด้านระยะเวลาใน การดำเนินธุรกิจไม่มีความสัมพันธ์กับด้านใดเลย
ผลการวิเคราะห์สหสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยภายใน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านความจำเป็นในการทำงานเป็นทีมมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับความต้องการ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษาและการพัฒนาในระดับปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับด้านฝึกอบรม สำหรับปัจจัยภายนอกได้แก่ ด้าน คู่แข่ง และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษาและการพัฒนาในระดับปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับด้านการฝึกอบรม ส่วนปัจจัยภายนอกด้านลูกค้า และด้านเทคโนโลยี มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับความต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษาและการพัฒนา ในระดับปานกลาง และมีความสัมพันธ์ในทิศทางตามกันกับด้านการฝึกอบรมในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
Citation format:
ณัฐกฤตา หงษ์เวียงจันทร์. (2020). การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2563. วันที่ 1 พฤษภาคม 2563.QUESTIONS & ANSWERS
ขอถามผู้วิจัยครับ
1.ทำไมปัจจัยภายนอกด้านคู่แข่ง และด้าสิ่งแวดล้อมถึงไม่มีความสัมพันธ์กับการฝึกอบรม ในเมื่อการฝึกอบรมเป็นส่ิ่งจำเป็นอย่างนึงของกระบนการจัดการทรพัยกรมนุษย์
2.คิดว่าผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใดอีกได้บ้างที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมก่อสร้าง
ขอบคุณครับ
สุรสิทธิ์ อุดมธนวงศ์
ตอบค่ะ ที่จริงแล้วการวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกอุตสาหกรรมตามความเหมาะสมค่ะ แต่เนื่องจากดิฉันได้ศึกษาในธุรกิจก่อสร้างเพราะดิฉันทำงานอยู่ในธุรกิจนี้ค่ะ