RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021
NA21-070 แนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่ชุมชนเกาะพิทักษ์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
นำเสนอโดย: ชนิสรา จำปา
สถาปัตยกรรมศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต
Abstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพด้านการท่องเที่ยวด้วยทฤษฎีจินตภาพของชุมชนเกาะพิทักษ์ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ศึกษาแนวทางการพัฒนาทางกายภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนเพื่อเสนอแนะการวางผังและการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในชุมชนเกาะพิทักษ์ จากประเด็นปัญหาที่ชุมชนยังขาดการจัดองค์ประกอบเมืองตามทฤษฏีที่เหมาะสม สถาปัตยกรรมถูกพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ของชุมชน ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าวจึงได้นำมาใช้เป็นประเด็นในการออกแบบวางผังชุมชนและพัฒนาสถาปัตยกรรม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วิธีการดำเนินวิจัยเป็นรูปแบบเชิงสังคมศาสตร์และการออกแบบทางกายภาพของชุมชนโดยการสำรวจพื้นที่ผังชุมชน สถาปัตยกรรมของชุมชนด้วยข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยเริ่มศึกษาจากประเด็นปัญหาของชุมชน และความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีกรอบของแผนการพัฒนาของเกาะพิทักษ์ นำมาวิเคราะห์ตามหลักทฤษฎีจินตภาพของเมือง รวมทั้งทฤษฎีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำมาใช้ในปรับปรุงแก้ไขในการวางผังและออกแบบงานสถาปัตยกรรมชุมชน ผลการวิจัยแสดงให้ทราบแนวทางออกแบบและพัฒนาชุมชนเบื้องต้นเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งเป็นส่วนที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ได้แก่ ท่าเรือ ศูนย์โอทอป (OTOP) และพื้นที่กิจกรรมอื่น ๆ บนเกาะ ส่วนสุดท้ายเป็นโครงการพื้นที่แนวชายฝั่งทะเลฝั่งทิศตะวันออก พัฒนาจุดชมวิวทั้ง 3 จุด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์พื้นที่บนเกาะพิทักษ์ โดยคาดหวังว่าการพัฒนาเชิงอนุรักษ์จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาเชิงอนุรักษ์จะช่วยส่งเสริมในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างเศรษฐกิจชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของหมู่บ้านชาวประมงชุมชนเกาะพิทักษ์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นชุมชนอย่างยั่งยืน