RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-043 ผลของฟลูออไรด์วาร์นิชต่อการลุกลามของรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มในฟันหลัง: การศึกษาเบื้องต้น

นำเสนอโดย: รินรดา ภิรมย์ภักดิ์
ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก, คณะทันตแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาทางคลินิกแบบแบ่งส่วนช่องปากที่มีการจัดกลุ่มด้วยวิธีสุ่มและมีกลุ่มควบคุม มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการลุกลามของรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มในฟันหลังภายหลังการทาฟลูออไรด์วาร์นิชและคาร์วิตี้วาร์นิชในอาสาสมัครจำนวน 21 คนที่มีรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มซึ่งยังไม่เป็นรูทางคลินิกในฟันหลังและมีการดำเนินโรคอย่างน้อย 2 รอยผุที่อยู่คนละจตุภาค อาสาสมัครได้รับการถ่ายภาพรังสีดิจิทัลชนิดกัดปีกที่ระยะเริ่มต้นและวัดความลึกรอยผุด้วยโปรแกรม Image-Pro Plus รอยผุดังกล่าวได้รับการจัดกลุ่มโดยการสุ่มเพื่อทาฟลูออไรด์วาร์นิช หรือคาวิตี้วาร์นิช (กลุ่มควบคุม) อาสาสมัครได้รับการถ่ายภาพรังสีดิจิทัลชนิดกัดปีกอีกครั้งที่ระยะ 6 เดือน เพื่อติดตามการลุกลามของรอยผุด้วยการวัดความลึกรอยผุ พบว่าค่าเฉลี่ยผลต่างความลึกรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มภายหลังการทาฟลูออไรด์วาร์นิช (0.0309 ± 0.15 มิลลิเมตร) และคาวิตี้วาร์นิช (-0.006 ± 0.15 มิลลิเมตร) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.33) และค่าเฉลี่ยร้อยละการเปลี่ยนแปลงของความลึกรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มภายหลังการทาฟลูออไรด์วาร์นิช (8.3 ± 24.54) และคาวิตี้วาร์นิช (-0.54 ± 24.09) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p =  0.179) เมื่อใช้สถิติ paired-T test จากงานวิจัยนี้สามารถสรุปได้ว่า การลุกลามของรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มในฟันหลังโดยใช้การวัดความลึกรอยผุจากภาพรังสีดิจิทัลชนิดกัดปีกที่ระยะเวลา 6 เดือนภายหลังการทาฟลูออไรด์วาร์นิชและคาวิตี้วาร์นิชไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวต่อไป

 

Citation format:

รินรดา ภิรมย์ภักดิ์, สุชยา ดำรงค์ศรี, พรกวี เจริญลาภ, ทิพวรรณ ธราภิวัฒนานนท์, และชุติมา ไตรรัตน์วรกุล. (2021). ผลของฟลูออไรด์วาร์นิชต่อการลุกลามของรอยผุด้านประชิดระยะแรกเริ่มในฟันหลัง: การศึกษาเบื้องต้น. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.