RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021
NA21-076 การแยกเพศโดยการใช้ซากกะโหลกศีรษะมนุษย์ส่วน Foramen Magnum ในประชากรไทยที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในภาคเหนือ
นำเสนอโดย: ปฐมพงศ์ จันธิมา
คณะกายภาพบำบัดเเละเวชศาสตร์การกีฬา, คณะกายภาพบำบัดเเละเวชศาสตร์การกีฬา, มหาวิทยาลัยรังสิต
Abstract
ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจทำให้เกิดการสูญหายและเสียชีวิตของบุคคล อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ยากต่อการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิต ในการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตนั้นจะต้องอาศัยข้อมูลเบื้องต้น เช่น เพศ อายุ ส่วนสูง ซึ่งการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตด้วยการแยกเพศนับว่าเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่มีความสำคัญ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะใช้วิธีการวัดจากซากโครงกระดูกที่พบ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีง่าย ไม่ซับซ้อนประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังให้ความแม่นยำในการแยกเพศที่ค่อนข้างสูง ในงานวิจัยครั้งนี้ทำการทดสอบความสามารถในการแยกเพศของซากกะโหลกศีรษะมนุษย์ส่วน foramen magnum จากกระดูกมนุษย์ของประชากรประเทศไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 200โครง แบ่งเป็น ชาย 100โครง และเพศหญิงจำนวน 100 โครง อายุอยู่ระหว่าง 20-94 ปี โดยได้รับซากกะโหลกศีรษะมนุษย์ส่วน foramen magnum มาจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวัด ทั้งสิ้น 5 ตัวแปรโดยใช้ digital vernier caliper ในการวัด โดยวิเคราะห์จากสถิติ univariate stepwise discriminant analysis วิเคราะห์ความสามารถในการแยกเพศของตัวแปรแต่ละตัวแปรพบว่า ตัวแปรทั้งหมดมีความสามารถในการแยกเพศอยู่ระหว่าง 59.0%-88.0% และจากสถิติ multivariate stepwise discriminant analysis เลือกตัวแปรที่ดีที่สุดเพื่อนำมาสร้างสมการในการแยกเพศ พบว่า สมการที่สร้างมีความสามารถในการแยกเพศอยู่ที่ 93.0% จากผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงศักยภาพในการนำซากกะโหลกศีรษะมนุษย์ส่วน foramen magnum มาประยุกต์ใช้ในงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์และมานุษยวิทยาเพื่อแยกเพศในกลุ่มประชากรไทยภาคเหนือได้