RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-042 ผลของการแปรงต่อแรงยึดของไนลอนในสิ่งยึดโลเคเตอร์อาร์ทีเอกซ์

นำเสนอโดย: วาสิตา พงศ์วัฒนะ
สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์, ทันตแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Abstract

การขาดการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเทียมนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดเนื้อเยื่อรอบรากเทียมอักเสบ ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวในการใส่ฟันเทียมคร่อมรากเทียม ผลจากการสำรวจก่อนหน้านี้พบว่า วิธีการทำความสะอาดฟันเทียมที่นิยมมากที่สุด คือ การแปรงด้วยยาสีฟัน การแปรงนี้อาจส่งผลต่อแรงยึดของไนลอนใต้ฐานฟันเทียม ซึ่งถูกใช้เพื่อเพิ่มแรงยึดของฟันเทียมคร่อมรากเทียม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้นวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อศึกษาผลของการแปรง ต่อแรงยึดของไนลอนในสิ่งยึดโลเคเตอร์อาร์ทีเอกซ์ โดยงานวิจัยนี้มีกลุ่มทดลอง 3 กลุ่ม ของไนลอน ได้แก่ 1) สีใส ค่าแรงยึดสูง 2) สีชมพู ค่าแรงยึดปานกลาง และ 3) สีน้ำเงิน ค่าแรงยึดต่ำ แต่ละกลุ่มมี 6 ชิ้นงาน (n=6) ที่ถูกนำไปแปรงด้วยยาสีฟัน จำนวน 5,000 รอบ หลังจากนั้น แรงยึดของทุกชิ้นงาน ถูกวัดด้วยเครื่องทดสอบแรงแบบอเนกประสงค์ ทั้งก่อนและหลังการแปรง แรงยึดที่วัดได้ ถูกนำมาคำนวณข้อมูลสถิติพรรณนาเพื่อหาค่าเฉลี่ย (mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) หลังจากนั้น ค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มสัมพันธ์กัน (paired t-test) และความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA) ถูกนำไปใช้เพื่อเปรียบเทียบแรงยึดของแต่ละกลุ่ม และอัตราร้อยละของแรงยึดที่เปลี่ยนไปของทั้ง 3 กลุ่ม ก่อนและหลังการแปรง ผลของ paired t-test พบว่า ทุกกลุ่มมีแรงยึดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการแปรง (p < 0.05)  และผลของ one-way ANOVA พบความแตกต่างของทั้ง 3 กลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) จากนั้น การทดสอบทูกีย์ (Tukey’s tests) ถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่าง พบว่า กลุ่มสีใส มีอัตราร้อยละของแรงยึดเพิ่มขึ้น สูงกว่ากลุ่มสีชมพูและกลุ่มสีน้ำเงินอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) ไม่มีความแตกต่างของอัตราร้อยละแรงยึดที่เปลี่ยนไป ระหว่างกลุ่มสีชมพูและกลุ่มสีน้ำเงินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≥ 0.05) สรุปผลได้ว่า การแปรงด้วยยาสีฟันบนไนลอนทั้งสามกลุ่ม จำนวน 5,000 รอบ ส่งผลต่อแรงยึดที่เพิ่มขึ้นของสิ่งยึดโลเคเตอร์อาร์ทีเอกซ์

 

Citation format:

วาสิตา พงศ์วัฒนะ, และกฤช กมลขันติกุล. (2021). ผลของการแปรงต่อแรงยึดของไนลอนในสิ่งยึดโลเคเตอร์อาร์ทีเอกซ์. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.