RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-041 การประเมินการสึกของแปรงสีฟันด้วยเครื่องแปรงฟันในห้องปฏิบัติการ

นำเสนอโดย: ตวงสิน พฤกษสุวรรณ
ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก, ทันตแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Abstract

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก จึงได้ผลิตแปรงสีฟันสำหรับเด็กขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชน การศึกษานี้ต้องการเปรียบเทียบการสึกของขนแปรงสีฟันที่ผลิตโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบกับแปรงสีฟันที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดในปัจจุบัน โดยใช้เครื่องแปรงฟันในห้องปฏิบัติการ นำชิ้นฟันที่ตัดจากด้านแก้มของฟันกรามน้ำนมขนาด 2 x 2 ตารางมิลลิเมตร จำนวน 28 ชิ้นมาฝังในอะคริลิกแล้วนำมาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามยี่ห้อของแปรงสีฟัน 1) Cudent 2)Berman 3)Colgate® และ 4)Fluocaril® แล้วจึงทำการทดสอบโดยการแปรงฟันด้วยเครื่อง V8 cross – brushing machine ทั้งหมด 100,000 รอบ จากนั้นจึงนำหัวแปรงสีฟันมาหาค่าดัชนีการสึกของแปรงสีฟัน พบว่าค่าเฉลี่ยดัชนีการสึกของขนแปรงสีฟันหลังการทดสอบด้วยการแปรงฟันของแปรงสีฟันยี่ห้อ Cudent, Berman, Colgate® และ Fluocaril® เท่ากับ 0.088±0.014 0.101±0.018 0.093±0.021 และ 0.245±0.132 ตามลำดับโดยพบว่าแปรงสีฟันยี่ห้อ Fluocaril® มีค่าเฉลี่ยดัชนีการสึกของขนแปรงสีฟันแตกต่างจากยี่ห้ออื่นอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001) จากการศึกษานี้สรุปว่า แปรงสีฟันยี่ห้อ Cudent Berman และ Colgate® มีการสึกของขนแปรงสีฟันไม่แตกต่างกันแต่แปรงสีฟันยี่ห้อ Fluocaril®  มีดัชนีการสึกของขนแปรงสีฟันมากกว่ายี่ห้ออื่น

Citation format:

ตวงสิน พฤกษสุวรรณ, ปริม อวยชัย, ยศกฤต หล่อชัยวัฒนา, และอรุณี ลายธีระพงศ์. (2021). การประเมินการสึกของแปรงสีฟันด้วยเครื่องแปรงฟันในห้องปฏิบัติการ. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.