RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-054 การคัดเลือกโมเลกุลนาโนบอดีที่มีความจำเพาะต่ออิมมูโนโกลบูลิน อี ด้วยเทคโนโลยี การแสดงโปรตีนบนผิวฟาจ

นำเสนอโดย: ดวงดาว แซ่ฉั่ว
ชีวเคมี มหาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาศาสตร์/บางเขน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Abstract

       โรคภูมิแพ้ชนิดที่ 1 หรือ โรคภูมิแพ้  เป็นการตอบสนองสารก่อภูมิแพ้ของระบบภูมิคุ้มกันโดยมีตัวกลางที่จดจำสารก่อภูมิแพ้ คือ อิมมูโนโกลบูลิน อี เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ทำให้ระดับอิมมูโนโกลบูลิน อี ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการจับแล้วส่งสัญญาณต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ ดังนั้นอิมมูโนโกลบูลิน อี ในกระแสเลือดจึงเป็นตัวบ่งชี้สำหรับโรคภูมิแพ้ชนิดที่ 1 การวัดปริมาณอิมมูโนโกลบูลิน อี ในกระแสเลือด ต้องอาศัยโมเลกุลจับจำเพาะจึงจะสามารถพัฒนาวิธีการตรวจสอบที่แม่นยำและมีความไวสูงได้ งานวิจัยนี้จึงทำการคัดเลือกโมเลกุลที่จำเพาะต่อ อิมมูโนโกลบูลิน อี เพื่อใช้ตรวจสอบปริมาณอิมมูโนโกลบูลิน อี ในกระแสเลือด โดยใช้เทคนิคการแสดงโปรตีนทางผิวฟาจและเทคนิคการคัดเลือกทางชีวภาพ จากการคัดเลือกนาโนบอดีซึ่งเป็นโมเลกุลจับจำเพาะด้วยเทคนิค ELISA พบนาโนบอดี จำนวน 10 โคลน คือ B41 B49 B50 B59 B78 B93 B94 B95 B98 และ B100 ที่จำเพาะกับ อิมมูโนโกลบูลิน อี ของมนุษย์ เมื่อทำการผลิตนาโนบอดีทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค SDS-PAGE และเทคนิค Immunoblot พบว่ามีแถบโปรตีนขนาดประมาณ 15 กิโลดาลตัน ซึ่งคาดว่าเป็นโมเลกุลนาโนบอดี โคลนที่ได้สามารถนำไปพัฒนาเป็นโมเลกุลจับจำเพาะเพื่อบ่งชี้ถึงอาการแพ้ที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ต่อไป

Citation format:

ดวงดาว แซ่ฉั่ว, เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล, และชมดาว สินธุวณิชย์. (2021). การคัดเลือกโมเลกุลนาโนบอดีที่มีความจำเพาะต่ออิมมูโนโกลบูลิน อี ด้วยเทคโนโลยี การแสดงโปรตีนบนผิวฟาจ. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.