RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-059 การพัฒนาต้นแบบระบบช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกราม

นำเสนอโดย: พนัสชัย ศรีบำรุง
สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์, คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

Abstract

       กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมากอีกทั้งเป็นที่นิยมบริโภคภายใน ประเทศ ราคากุ้งก้ามกรามจึงมีราคาสูงทำให้ธุรกิจเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเป็นธุรกิจหนึ่งที่เกษตรกรนิยม แต่การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญอย่างมาก กุ้งก้ามกรามต้องการความเอาใจใส่และการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงให้เหมาะสมเพื่อทำให้กุ้งก้ามกรามมีอัตราการรอดชีวิตสูง งานวิจัยนี้มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่สนใจเลี้ยงไว้บริโภคเองในพื้นที่จำกัด โดยงานวิจัยนี้ได้พัฒนาต้นแบบระบบช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกราม โดยควบคุมอุณหภูมิของน้ำให้อยู่ในช่วง 27 องศาเซลเซียส ถึง 29 องศาเซลเซียส ควบคุมปริมาณการให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนกุ้งที่เลี้ยง และควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมโดยการควบคุมค่าความขุ่นของน้ำให้อยู่ในช่วง 44 NTU ถึง 745 NTU ตัวแปรต่าง ๆ ถูกควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ถูกเขียนโปรแกรมควบคุมเพื่อให้เหมาะสมในการเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกราม งานวิจัยนี้ได้นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Thing ; IoT) ไปใช้ในการแสดงผลและควบคุมระยะไกลแบบไร้สายที่เป็นแบบ real time ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน การทดสอบต้นแบบระบบช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกราม ทำการทดสอบ 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน โดยเปรียบเทียบ ค่าเฉลี่ยระหว่างตู้ที่เลี้ยงโดยใช้ระบบช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต พบว่าขนาดของกุ้งก้ามกรามโตมากกว่า 1 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิต 56.6 เปอร์เซนต์  ในขณะที่ตู้ที่ไม่ใช้ระบบช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตมี อัตราการรอดชีวิตเพียง 16.6 เปอร์เซนต์  

Citation format:

พนัสชัย ศรีบำรุง, นรินทร์ จีระนันตสิน, กรีฑา จิรัตฐิวรุตม์กุล, และสุรชาติ ปัญญา. (2021). การพัฒนาต้นแบบระบบช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกราม. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.