RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021
NA21-039 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกจากงานของบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นำเสนอโดย: พรทิพย์ ลีลาคณาทรัพย์
หน่วยพัฒนาองค์กรและบุคลากร, คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract
การศึกษาเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกจากงานของบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างของปัจจัยส่วนบุคคลทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ สายงานที่ปฏิบัติ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ประเภทการจ้างงาน อายุงาน และประเภทหน่วยงานที่สังกัด ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานภายในคณะเภสัชศาสตร์ ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายการบริหารงานของหน่วยงาน ด้านการทำงาน ด้านโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ ด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ด้านเพื่อนร่วมงาน ด้านผู้บังคับบัญชาโดยตรง ด้านผู้บังคับบัญชาระดับหัวหน้าหน่วยงาน และด้านสภาพแวดล้อม/ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นตัวแปรอิสระที่ส่งผลต่อการออกจากงานของบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาแนวโน้มปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลาออกของบุคลากร นำไปสู่การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เหมาะสม และสอดคล้องต่อความต้องการของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานภายในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไป โดยการวิจัยนี้ใช้เครื่องมือแบบสอบถามบุคลากรที่ออกจากงาน (Exit Interview) กลุ่มประชากรที่ใช้ศึกษา คือ บุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ออกจากงานในระหว่างปีงบประมาณ 2560-2563 จำนวน 35 คน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน พ.ศ. 2563) โดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล และความพึงพอใจในการปฏิบัติงานภายในคณะเภสัชศาสตร์ ที่ส่งผลต่อการออกจากงาน โดยใช้ตารางไขว้ (Crosstabs) และค่า Chi-square และระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษา พบว่า ประชากรผู้ตอบแบบสอบถาม 35 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรสายสนับสนุนเพศหญิง อายุระหว่าง 25–35 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ เทียบเท่า ได้รับการจ้างงานในประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย มีอายุงานน้อยกว่า 1 ปี และปฏิบัติงานในสำนักงาน มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานภายในคณะเภสัชศาสตร์ ในด้านเพื่อนร่วมงาน และผู้บังคับบัญชาโดยตรงมากที่สุด และเมื่อทดสอบปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจออกจากงานของบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ พบว่าบุคลากรสายสนับสนุนออกจากงานด้วยปัญหาอื่น เช่น ได้งานใหม่ที่ชอบ มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบุคลากรสายวิชาการ และพบว่าความพึงพอใจในด้านโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ ด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ ด้านเพื่อนร่วมงาน ด้านผู้บังคับบัญชาโดยตรง ด้านผู้บังคับบัญชาระดับหัวหน้าหน่วยงาน และด้านสภาพแวดล้อม/ความปลอดภัยในการทำงาน มีผลต่อการตัดสินใจออกจากงานของบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05