RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-047 การศึกษาภาพรังสีวัดกะโหลกศีรษะด้านข้างของผู้ป่วยจัดฟันไทยที่ได้รับการรักษาแล้วที่มีรูปด้านข้างของใบหน้าแบบตรงและแบบเว้าที่สวยงามยอมรับได้เปรียบเทียบกับค่าปกติของผู้ใหญ่ไทย

นำเสนอโดย: วิเศษสรรค์ พรศิริอนันต์
ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน, ทันตแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Abstract

               การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบตัวแปรจากภาพรังสีวัดกะโหลกศีรษะด้านข้างระหว่างกลุ่มที่มีรูปหน้าด้านข้างแบบตรงและแบบเว้าที่สวยงามยอมรับได้ และระหว่างแต่ละกลุ่มกับค่าปกติของผู้ใหญ่ไทย โดยนำภาพเงาดำจากภาพรังสีวัดกะโหลกศีรษะด้านข้างของคนไข้จัดฟันที่ได้รับการรักษาเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 100 คน มาให้ทันตแพทย์จัดฟันชาวไทย 4 ท่านให้คะแนน เลือกเฉพาะภาพรังสีที่มีรูปหน้าด้านข้างที่ยอมรับได้ 41 ภาพ มาแบ่งเป็นกลุ่มรูปหน้าด้านข้างแบบตรงและแบบเว้าที่ยอมรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติของผู้ใหญ่ไทย ทั้งสองกลุ่มมีคางถอย มีโครงสร้างขากรรไกรแนวดิ่งค่อนไปทางเปิด มีมุมระหว่างจมูกและริมฝีปากที่มากกว่า มีตำแหน่งฟันหน้าล่างถอย มุมระหว่างแนวแกนฟันหน้าบน-ล่างน้อยกว่า มีจมูกถอยกว่า มีริมฝีปากบน-ล่างถอยเมื่อเทียบกับระนาบใบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ต่างเมื่อเทียบกับเส้นสัมผัสจมูกและคาง (E-line) โดยในกลุ่มรูปหน้าด้านข้างแบบเว้ามีแนวแกนและตำแหน่งฟันหน้าบนยื่นกว่ากลุ่มรูปหน้าด้านข้างแบบตรงและค่าปกติของผู้ใหญ่ไทยอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ทันตแพทย์จัดฟันสามารถเคลื่อนฟันหน้าล่างให้ถอย โดยมีมุมระหว่างแนวแกนฟันหน้าบน-ล่างน้อยกว่าปกติในคนที่มีรูปหน้าด้านข้างแบบตรงให้ยื่นได้มากกว่าค่าปกติของผู้ใหญ่ไทย และสามารถเคลื่อนฟันหน้าล่างให้ถอย และปรับแนวแกนและตำแหน่งของฟันหน้าบนในคนที่มีรูปหน้าด้านข้างแบบเว้าให้ยื่นมากกว่าค่าปกติของผู้ใหญ่ไทยและกลุ่มที่มีรูปหน้าด้านข้างแบบตรง ซึ่งยังให้ความสวยงามยอมรับได้ เท่าที่ตำแหน่งริมฝีปากบนเมื่อเทียบกับ E-line ยังอยู่ในช่วงค่าปกติ

Citation format:

วิเศษสรรค์ พรศิริอนันต์, พิมพ์สิริ กันต์พิทยา, และเจนตา ชะวะนะเวช. (2021). การศึกษาภาพรังสีวัดกะโหลกศีรษะด้านข้างของผู้ป่วยจัดฟันไทยที่ได้รับการรักษาแล้วที่มีรูปด้านข้างของใบหน้าแบบตรงและแบบเว้าที่สวยงามยอมรับได้เปรียบเทียบกับค่าปกติของผู้ใหญ่ไทย. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.