RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021
NA21-049 ผลของช่วงแสงต่อการเจริญเติบโตของพืชในระบบการให้แสงประดิษฐ์สำหรับต้นอ่อนทานตะวัน
นำเสนอโดย: กิตติธัช รัตนโชติ
สาขาวิศวกรรมเครื่องกล, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของช่วงแสงต่อการเจริญเติบโตของพืชในระบบการให้แสงประดิษฐ์สำหรับต้นอ่อนทานตะวัน โดยการเพาะเลี้ยงในน้ำและอยู่ในกล่องทึบไม่มีแสงภายนอก อุปกรณ์การทดลองประกอบด้วยกล่องทึบแสง 9 กล่องที่มีอัตราส่วนจำนวนหลอดไดโอดเปล่งแสง (Light emitting diodes, LEDs) แสงสีแดงต่อแสงสีขาวต่อแสงสีน้ำเงินดังนี้ 0:1:0,0:0:1,1:0:3,1:0:1,3:0:1,1:0:0,1:1:1,ไม่มี LEDs และแสงธรรมชาติ ตามลำดับ ทำการทดลองภายในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ 26 ± 1 องศาเซลเซียส ใช้เวลาทดลอง 7 วัน /รอบการปลูก ให้แสงเป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ตัวแปรที่แสดงการเจริญเติบโตของต้นอ่อนประกอบด้วย ความหนาลำต้น ความยาวลำต้น ความยาวใบ ความกว้างใบ น้ำหนักสด น้ำหนักแห้ง และปริมาณความชื้นของต้นอ่อนทานตะวัน พบว่า ต้นอ่อนทานตะวันมีการเจริญเติบโตได้ดีที่สุดด้านความยาวลำต้น ความยาวใบ ความกว้างใบ คือกล่องที่มีอัตราส่วนจำนวนหลอดแสงสีแดงต่อแสงสีขาวต่อแสงสีน้ำเงินเท่ากับ 1:0:1 ซึ่งสามารถใช้ทดแทนแสงธรรมชาติในฤดูที่มีแสงน้อยได้ รองลงมาเป็นกล่องที่ไม่มี LEDs ต้นอ่อนทานตะวันมีความยาวลำต้นและน้ำหนักแห้งมากที่สุด แต่ความหนาลำต้นน้อยที่สุดและใบมีขนาดเล็กเป็นสีเหลือง ส่วนน้ำหนักสดและปริมาณความชื้นมากที่สุดได้แก่กล่องแสงธรรมชาติและกล่องที่มีอัตราส่วนจำนวนหลอดแสงสีแดงต่อแสงสีขาวต่อแสงสีน้ำเงินเท่ากับ 1:1:1 ตามลำดับ