RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-032 การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบโดยทันทีระหว่างการยกระนาบการสบฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ที่มีแท่นกัดในส่วนหลังและวัสดุยึดติดแถบรัดจัดฟันต่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและการประเมินความสามารถในการบดเคี้ยวด้วยตนเองในผู้ป่วยจัดฟัน

นำเสนอโดย: ปกฉัตร บุญภู
ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน, ทันตแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Abstract

การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน สำหรับความผิดปกติบางชนิดผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องมีขั้นตอนการยกระนาบการสบฟันเพิ่มเข้ามาจากการรักษาแบบพื้นฐาน แม้ว่าระยะของการยกระนาบการสบฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ที่มีแท่นกัดในส่วนหลังและการใช้วัสดุยึดติดแถบรัดจัดฟันจะมีการกำหนดให้ใกล้เคียงกัน แต่ด้วยปริมาณจุดสัมผัสการสบฟันที่แตกต่างกันระหว่างสองวิธี จึงอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบบดเคี้ยวแตกต่างกัน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบโดยทันทีต่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและการประเมินความสามารถในการบดเคี้ยวด้วยตนเอง ในผู้ป่วยจัดฟันก่อนและหลังการยกระนาบการสบฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ที่มีแท่นกัดในส่วนหลังและวัสดุยึดติดแถบรัดจัดฟัน ซึ่งจะทำการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยจัดฟันจำนวน 12 คน (ชาย 2 คน หญิง 10 คน; ช่วงอายุ 14-40 ปี) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน การทดสอบส่วนที่หนึ่งจะให้ผู้ป่วยเคี้ยววัสดุทดสอบ (OptoSil®) เพื่อคำนวณประสิทธิภาพการบดเคี้ยว (Masticatory performance) การทดสอบส่วนที่สองจะให้ผู้ป่วยเคี้ยวอาหารทดสอบจำนวน 8 ชนิดและตอบแบบประเมินความสามารถในการบดเคี้ยวด้วยตนเอง {Food Intake Ability (FIA) questionnaire} เพื่อประเมินความสามารถในการบดเคี้ยว (Masticatory ability) การทดสอบทั้ง 2 ส่วนจะทำก่อนใส่เครื่องมือ (T0) และหลังใส่เครื่องมือทันที (T1) ผลการวิจัยภายหลังการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมการวิเคราะห์ทางสถิติ (SPSS version 22.00 software, IBM Inc., Chicago, IL) พบว่าค่าประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและคะแนนจากการประเมินความสามารถในการบดเคี้ยวด้วยตนเองระหว่างก่อนและหลังการยกระนาบการสบฟันในกลุ่มเดียวกันมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (P < .05) สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่มไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของค่าประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและคะแนนจากการประเมินความสามารถในการบดเคี้ยวด้วยตนเอง จึงอาจสรุปได้ว่าการยกระนาบการสบฟันด้วยเครื่องมือทั้งสองแบบนั้น ส่งผลให้การทำงานของระบบบดเคี้ยวในผู้ป่วยลดลงอย่างไม่แตกต่างกัน

Citation format:

ปกฉัตร บุญภู, และชิษณุ แจ้งศิริพันธ์. (2021). การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบโดยทันทีระหว่างการยกระนาบการสบฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ที่มีแท่นกัดในส่วนหลังและวัสดุยึดติดแถบรัดจัดฟันต่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและการประเมินความสามารถในการบดเคี้ยวด้วยตนเองในผู้ป่วยจัดฟัน. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.