RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021
NA21-020 การศึกษาสถานการณ์โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและจัดการอาหารเพื่อสุขภาพ ในโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
นำเสนอโดย: วีรพันธ์ ใจแก้ว
1. ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น 2. นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกทันตสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 1. กลุ่มงานทันตสาธารณสุข 2. คณะทันตแพทยศาสตร์, 1. โรงพยาบาลชนบท 2. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract
การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและจัดการอาหารเพื่อสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างคือโรงเรียนประถมศึกษาจำนวน 32 โรงเรียน เก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามผู้บริหารโรงเรียนและครูอนามัย 32 โรงเรียน จำนวน 64 คน และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนและครูอนามัย 10 โรงเรียน จำนวน 20 คนและการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จากแบบสอบถามพบโรงเรียนทุกแห่งมีการเตรียมและปรุงอาหารตามมาตรฐานอาหารในสถานศึกษาและจัดเตรียมน้ำดื่มสะอาดให้นักเรียนอย่างเพียงพอแต่มีการจัดอาหารว่างเพียง 20 แห่ง การจำหน่ายน้ำอัดลม น้ำหวาน และขนมกรุบกรอบ พบโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 30 แห่ง (ร้อยละ 93.8) ปลอดน้ำหวาน 14 แห่ง (ร้อยละ 43.8) และปลอดขนมกรุบกรอบ 11 แห่ง (ร้อยละ 34.4) การควบคุมการจำหน่ายน้ำอัดลมและจัดการอาหารเพื่อสุขภาพมีลักษณะแตกต่างกันไป พบโรงเรียน 20 แห่ง (ร้อยละ 62.5) มีการควบคุมการจำหน่ายน้ำอัดลมและจัดการอาหารเพื่อสุขภาพบางองค์ประกอบ โรงเรียน 10 แห่ง (ร้อยละ 31.3) ดำเนินงานครบทุกองค์ประกอบ และโรงเรียน 2 แห่ง (ร้อยละ 6.2) ไม่มีการดำเนินงานใด ๆ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนและครูอนามัยพบว่าโรงเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงสู่โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและจัดการอาหารเพื่อสุขภาพจำนวน 10 แห่ง เป็นความสนใจในระดับมาก 3 แห่งและปานกลาง 7 แห่ง แต่มีเพียง 2 โรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้พบว่าการริเริ่มแผนปฏิบัติการเกิดจากผู้บริหารโรงเรียนและการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เป็นสำคัญ