RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021

NA21-014 ประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 ผสมผสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ไทย สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

นำเสนอโดย: พรวิไล สุขมาก
ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า, คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

Abstract

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 ผสมผสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ไทย 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 ผสมผสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาหลักวิชาชีพครู ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบประเมินความเหมาะสมและสอดคล้องกิจกรรมการเรียนรู้ ใบกิจกรรมการเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 ผสมผสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ไทย เป็นวงจรปฏิบัติการต่อเนื่องกัน 3 วงจร แต่ละวงจร ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นทุกข์ (การระบุปัญหา) 2) ขั้นสมุทัย (หาสาเหตุของปัญหา) 3) ขั้นนิโรธ (แก้ปัญหา) 4) ขั้นมรรค (สรุปผลและแนวทางปฏิบัติ) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิชาชีพครู แบบประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 ผสมผสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ไทย นักศึกษามีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิชาชีพครูหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Citation format:

พรวิไล สุขมาก. (2021). ประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 ผสมผสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ไทย สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมระดับชาติมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2564. วันที่ 30 เมษายน 2564.