RSUSCI-2021 & RSUSOC-2021
NA21-013 การประเมินการความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อกลยุทธ์ทางการตลาดในโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดหนองคาย
นำเสนอโดย: วุฒิชัย ศรีเจริญชัย
วิชาเอกการจัดการระบบอาหารเพื่อโภชนาการ, สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
Abstract
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อ 1) ศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อกลยุทธ์ทางการตลาดในการจัดการโครงการอาหารกลางวัน 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์ทางการตลาดกับข้อมูลพื้นฐานของผู้ปกครองนักเรียน 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์ทางการตลาดกับความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคายด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบโควต้า 1:1 คือ นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1-3 1 คน ต่อตัวแทนผู้ปกครอง 1 คน ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด130 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อกลยุทธ์ทางการตลาดในโครงการอาหารกลางวัน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที และสถิติสหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน
ผลวิจัยพบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ปกครอง 130 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 31-40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน อยู่ระหว่าง 10,001 - 20,000 บาท ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว มีจำนวนบุตรหลานที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน 1 คน และระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี 1) ความพึงพอใจของผู้ปกครองในภาพรวมที่มีต่อกลยุทธ์ทางการตลาดในการจัดโครงการอาหารกลางวันอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด และในด้านบุคลากรมีความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุด 2) ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรข้อมูลพื้นฐานของผู้ปกครองด้านอายุต่อความพึงพอใจในกลยุทธ์ทางการตลาดในโครงการอาหารกลางวัน พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในประเด็นด้านผลิตภัณฑ์ ด้านอาชีพต่อความพึงพอใจในกลยุทธ์ทางการตลาดในโครงการอาหารกลางวัน พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในประเด็นด้านบุคลากร ด้านจำนวนบุตรหลานที่ศึกษาอยู่ปัจจุบันต่อความพึงพอใจในกลยุทธ์ทางการตลาดในโครงการอาหารกลางวัน พบว่า มีความแตกต่างกันด้านกระบวนการอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 3) ความสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์ทางการตลาดกับความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการจัดโครงการอาหารกลางวัน พบว่า กลยุทธ์ทางการตลาดทั้ง 7 ด้านมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจของผู้ปกครองในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ